การสร้างอาชีพการผลิตผักที่มีคุณภาพและปลอดภัยเพื่อการบริโภคและการส่งออก

          จากการปรับปรุงพันธุ์ถั่วฝักยาวเพื่อเพิ่มลักษณะผลผลิตและคุณภาพของผลผลิต ตลอดช่วงปี พ.ศ. 2544 ถึง 2549 ณ แปลงทดลอง 2 ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ถั่วฝักยาวที่มีลักษณะที่ดี ตรงตามลักษณะพันธุ์ที่ต้องการของตลาด คือ ถั่วฝักยาวประเภทถั่วเนื้อพันธุ์ ‘แสนขจี’ ซึ่งได้จากการผสมระหว่าง พันธุ์ ‘Maxigreen’ (พันธุ์แม่) และ ‘Sandigon’ (พันธุ์พ่อ) โดยมีลักษณะผลผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ดี คือ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ประมาณ 3,500 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเลื้อยขึ้นค้างได้ดีทั้งแบบรั้วแถวคู่และแบบกระโจม มีจำนวนฝักต่อต้น เท่ากับ 56 ฝักต่อต้น น้ำหนักผลผลิตต่อต้น เท่ากับ 1.06 กิโลกรัมต่อต้น และน้ำหนักผลผลิตต่อไร่ เท่ากับ 3.5 ตันต่อไร่ (ที่ระยะปลูก 60 x 70 เซนติเมตร) ลักษณะสีฝักของถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ มีสีเขียวเข้มกว่าพันธุ์การค้าในปัจจุบัน (green group 140 D) (ภาพที่ 1ก) ทั้งนี้ในลักษณะคุณภาพผลผลิตอื่นๆ นั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับพันธุ์การค้าในปัจจุบัน คือ มีน้ำหนักฝัก เท่ากับ 19 กรัม ความยาวฝัก เท่ากับ 56 เซนติเมตร และความกว้างฝัก เท่ากับ 6 มิลลิเมตร นอกจากนี้ ถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ ยังสามารถให้ผลผลิตในระดับสูงในทุกรูปแบบของการตัดแต่งกิ่งแขนง คือ (1) แบบไม่มีการตัดแต่งกิ่งแขนง (2) แบบมีเถาหลักรวมกับการไว้กิ่งแขนง 5 แขนง (3) แบบไม่มีเถาหลักร่วมกับการไว้กิ่งแขนง 5 แขนง และ (4) แบบไม่มีเถาหลักร่วมกับการไว้กิ่งแขนง 5 แขนง และตัดยอดที่ความสูง 150 เซนติเมตร

               นอกจากนี้ ถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ ยังมีลักษณะพิเศษที่สำคัญต่อการผลิต คือ การทนทานต่อโรค ราสนิม ซึ่งเป็นโรคที่พบการแพร่ระบาดทั่วประเทศไทย โดยมีผลทำให้ใบร่วง และผลผลิตลดลง จากการทดสอบระหว่างถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ กับพันธุ์การค้า ในสภาพแปลงเปิด ณ ช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคราสนิม พบว่า ถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ มีขนาดและจำนวนพื้นที่ที่เกิดโรคน้อยกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ (ภาพที่ 1ข และ 2) และมีอายุการเก็บเกี่ยวที่นานกว่า โดยจากการสังเกต พบว่า ถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ พบการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุของโรคราสนิมในช่วง 80-90 วันหลังปลูก ซึ่งต่างจากพันธุ์อ่อนแอที่พบในช่วง 50 - 60 วันหลังปลูก ดังนั้น ถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ จึงเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีความเหมาะสมต่อการนำไปผลิตเชิงการค้าเพื่อการส่งออกในรูปฝักสดโดยการแช่แข็ง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มสีสันบนจานอาหารให้น่ารับประทานมากขึ้น

ภาพที่ 1 (ก) ลักษณะสีฝักของถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ ซึ่งมีสีเขียวเข้ม และ (ข) ลักษณะใบของถั่วฝักยาวพันธุ์แสนขจี (T) ที่แสดงลักษณะทนทานต่อโรคราสนิมมากกว่าพันธุ์อ่อนแอ (S)

ภาพที่ 2 ลักษณะต้านทานต่อโรคราสนิมของถั่วฝักยาวพันธุ์ ‘แสนขจี’ (T) ที่ปลูกทดสอบร่วมกับพันธุ์แอ (S)

 

 

ปราโมทย์ สฤษดิ์นิรันดร์ และนายกฤษฎา จาตุรัส
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.์ 034-281-084