กล้วย อาหารกาย อาหารใจ
Banana food for health and soul

            เมื่อนึกถึงกล้วยทุกคนจะนึกถึงได้ไม่กี่ชนิด ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง เป็นต้น แทบจะทุกคนต้องเคยรับประทานกล้วยน้ำว้ามาตั้งแต่เด็ก และมีกล้วยหอมทอง กล้วยไข่ เป็นผลไม้ในบางมื้อหลังอาหาร และยังได้รับประทานกล้วยที่แปรรูปเป็นอาหารคาวหวานอีกมากมายเช่น กล้วยบวชชี กล้วยเชื่อม กล้วยฉาบ กล้วยแขก ขนมกล้วย ข้าวต้มมัด กล้วยปิ้ง กล้วยกวน แกงกล้วย แกงปลีกล้วย แกงหยวกกล้วย ยำปลีกล้วย และอื่นๆอีกมากมาย แต่ใครจะรู้บ้างว่าแท้จริงแล้วกล้วยบ้านเรามีเป็นร้อยชนิดและนำมาทำเป็นอาหารได้อร่อยไม่แพ้กล้วยทั้งสามชนิดข้างต้นเลยหรือบางที่อาจจะอร่อยกว่าด้วยซ้ำไป
จากการที่สถานีวิจัยปากช่องได้รวบรวมพันธุ์กล้วยไว้กว่าร้อยชนิดจึงได้ทดลองนำกล้วยชนิดต่างๆมาแปรรูปด้วยวิธีง่ายๆที่เราทำกันอยู่ พบว่าการเลือกชนิดกล้วยให้เหมาะสมกับการแปรรูปจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์กล้วยที่อร่อยมากขึ้นโดยไม่ต้องไปดัดแปลงวิธีการให้ยุ่งยากอะไร เช่น งานทดลองทำกล้วยทอดกรอบ(กล้วยฉาบ) จากเดิมใช้กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก พบว่า การใช้กล้วยหอมเขียวซึ่งไม่นิยมบริโภคผลสุกกัน แต่นำมาทำกล้วยทอดกรอบได้อร่อยไม่แพ้มันฝรั่งและได้ปริมาณการผลิตสูงเพราะผลผลิตต่อเครือสูงผู้บริโภคชอบมาก ส่วนกล้วยน้ำว้า อยู่ในอันดับความชอบสุดท้าย(กัลยาณีและคณะ, 2541) การทดลองทำกล้วยกวนแบบไม่ใช้น้ำตาลแต่ดัดแปลงผสมผสานเนื้อกล้วยที่มีความหวานสูงเข้าไปและใช้เนื้อกล้วยที่มีปริมาณแป้งมากเป็นตัวผสาน     

        จากที่เคยรับประทานแต่กล้วยน้ำว้ากวนที่เหนียวหนึบ หวานแสบคอ ลองมาทำสูตรที่ได้จากการทดลองนี้ เป็นการทำกล้วยหอมหรือกล้วยไข่กวน โดยการใช้กล้วยหอมหรือกล้วยไข่ สองส่วนผสมกล้วยน้ำว้าหนึ่งส่วนกวนเข้าด้วยกัน ต้องการความหอมมันเพิ่มกะทิหนึ่งกิโลกรัมและเกลือป่น 10 กรัม ถ้าต้องการความเหนียวนุ่มใส่แบะแซ 2 กิโลกรัม จะได้กล้วยกวนที่หอม หวานมันอร่อยไม่ติดฟันไม่หวานแสบคอ (กัลยาณีและคณะ,2549)

            นอกจากนี้กล้วยชนิดอื่นๆในบ้านเรายังนำมาบริโภคสดและแปรรูปได้อร่อย เช่น กล้วยนางพญาหรือกล้วยนางญาทางภาคใต้ผลดิบแก่จัดนำมาทำกล้วยทอดกรอบได้อร่อยและมีสีเหลืองสวย เมื่อกล้วยเริ่มสุกห่ามนำมาเชื่อมอร่อยมากเนื้อสีเหลืองทองเหนียวนุ่ม เมื่อสุกกำลังพอดีนำมารับประทานเป็นผลไม้เนื้อมีสีเหลืองอมส้มเล็กน้อยไม่หวานจัด มีกลิ่มหอมอ่อนๆ คล้ายกล้วยหอมแต่เนื้อฟูกว่า หากเริ่มงอมนำมาทำกล้วยทอด(กล้วยแขก)อร่อยอย่าบอกใครหวานหอมเหนียวนุ่มทางใต้จะขึ้นชื่อมากและราคาขายแพงกว่ากล้วยน้ำว้าทอด ถ้างอมจัดนำไปทำข้าวต้มมัดจะได้ข้าวต้มมัดไส้สีเหลืองทองหวานหอมต่างจากน้ำว้า นอกจากกล้วยนางพญาแล้ว ยังได้ทดลองนำกล้วยอื่นๆมาแปรรูปและได้ความเหมาะสมต่างกันเช่น

กล้วยเชื่อม
ต้องใช้ กล้วยน้ำว้าดำ กล้วยน้ำว้าแดง กล้วยเทพพนม กล้วยงาช้าง กล้วยหิน
กล้วยนางพญา กล้วยหักมุก
กล้วยบวชชี ต้องใช้ กล้วยน้ำว้าทุกชนิดยกเว้นน้ำว้าไส้แดง กล้วยไข่ กล้วยหิน กล้วยนางพญา
กล้วยทอดกรอบ(กล้วยฉาบ) ต้องใช้ กล้วยหอมเขียว กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยไข่พระตะบอง กล้วยหิน กล้วยนาก กล้วยเทพรส กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง
กล้วยปิ้ง ต้องใช้ กล้วยน้ำว้าทุกชนิดยกเว้นน้ำว้าไส้แดง กล้วยหักมุก กล้วยกล้าย กล้วยงาช้าง
กล้วยหิน กล้วยนางพญา กล้วยนมหมี
กล้วยทอด
(กล้วยแขก)
ต้องใช้ กล้วยน้ำว้าทุกชนิดยกเว้นน้ำว้าไส้แดง กล้วยนางพญา
กล้วยต้มคลุกมะพร้าว ต้องใช้ กล้วยน้ำว้าทุกชนิดยกเว้นน้ำว้าไส้แดง กล้วยหอมจำปา กล้วยหิน
กล้วยตาก ต้องใช้ กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง กล้วยน้ำว้าเงิน กล้วยน้ำว้าดำ กล้วยเล็บมือนาง
ทำไส้ข้าวต้มมัด ต้องใช้ กล้วยน้ำว้าแดง(ไส้สีแดงเข้ม) กล้วยน้ำว้าเหลือง (ไส้สีแดง) กล้วยนางพญา
(ไส้สีเหลืองเข้ม)
กล้วยกวน ต้องใช้ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมเขียว กล้วยหอมทอง กล้วยไข่
รับประทานผลสุก ต้องใช้ กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง กล้วยนางพญา กล้วยสา กล้วยหอมจำปา
กล้วยหอมเล็ก กล้วยน้ำนม กล้วยนมสาว
รับประทานผลสุกงอม ต้องใช้ กล้วยเทพรส กล้วยเล็บช้างกุด กล้วยน้ำว้าดำ


             นอกจากจะเป็นอาหารทางกายที่อร่อยมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังเป็นอาหารทางใจ ให้ความสวยงามสดชื่น และร่มรื่นเย็นใจจากลักษณะดอกใบที่มีสีสรรสวยงาม เช่น กล้วยบัวต่างๆ ที่มีลักษณะดอกชูตั้งขึ้นคล้ายดอกบัว ทรงต้นไม่ใหญ่ไว้กอได้ ใบเรียวเล็กกว่ากล้วยธรรมดาทั่วไป มีหลายสี เช่น ดอกสีชมพูอ่อนทรงดอกเรียวแหลม ดอกสีชมพูเข้มทรงดอกอ้วนป้อมคล้ายบัวหลวง ดอกสีแดง ดอกสีส้ม ดอกสีม่วงเข้มผลสีม่วง ดอกสีม่วงอ่อน(รุ่งอรุณ) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกล้วยป่าที่มีปลีสีเหลืองอมเขียวใบเรียวยาวตั้งขึ้นสวยงาม กล้วยโทนหรือกล้วยนวลที่มีทรงต้นคล้ายปาล์มขวดไม่มีหน่อ ทรงดอกห้อยลงมาเปิดดอกเป็นชั้นๆสีเขียวอ่อน ปลีมีสีเขียว กล้วยผาหรือกล้วยครก ทรงต้นใหญ่ใบชี้ขึ้นไม่มีหน่อ ช่อดอกใหญ่ ตั้งขึ้นมีทั้งสีแดงและสีเขียว กล้วยเลือดหรือกล้วยเสือพรานและกล้วยแดงอ่างขาง แดงฮาวาย ที่มีลักษณะใบเด่นเพราะมีปะ ปื้นเป็นสีแดงเข้มบนพื้นใบด้านบน ส่วนท้องใบล่างเป็นสีแดงทั้งผืน และที่สวยแปลกโดดเด่นเห็นจะได้แก่กล้วยคุณหมิง ที่มีทรงต้นคล้ายปาล์มขวดขนาดเล็ก ลำต้นสูงไม่เกิน1.5 เมตร ใบเรียวคล้ายปีกนกตั้งขึ้น ลำต้นสีเขียวมีนวล ออกดอกเพียงโผล่พ้นลำต้น ดอกมีสีเหลืองสดใสดอกใหญ่คล้ายดอกบัวเปิดกลีบซ้อนเป็นชั้นสวยงามมีอายุดอกอย่างน้อย 45 วัน และที่สำคัญหากมีหน่อเกิดขึ้นหน่อนั้นจะออกดอกพร้อมต้นแม่ทำให้ทั้งกอมีดอกใหญ่ดอกเล็กสวยงามน่ารักมาก ซึ่งได้ศึกษาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนถึงออกปลูกได้สำเร็จแล้ว (พินิจและคณะ, 2549) กล้วยเหล่านี้ให้ความสวยงามทั้งในการจัดสวน จัดแจกันในบ้าน ดัดแปลงทำภาชนะ สิ่งประดิษฐ์ เป็นที่ชื่นตาชื่นใจและยังทำให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราดีขึ้นด้วย
            หากสนใจในเรื่องของกล้วยพันธุ์ต่างๆสามารถรับคำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ ติดต่อได้ที่ อ.กัลยาณี สุวิทวัสและอ.พินิจ กรินท์ธัญญกิจ (กล้วยคุณหมิง) สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ ม.เกษตรศาสตร์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 โทร. 044-311-796 ในวันและเวลาราชการ

 

กัลยาณี สุวิทวัส และ พินิจ กรินท์ธัญญกิจ
สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130
โทร. 044-311-796