สภาวะโลกร้อนต่อระบบนิเวศเกษตร
Global Warming on Agro-ecological System

          นับวันความแปรปรวนของภูมิอากาศและภัยพิบัติจะรุนแรงมากขึ้นทุกขณะในทั่วภูมิภาคของโลก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ในบรรยากาศเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) หรือภาวะโลกร้อน (global warming)

          ภาวะโลกร้อนนี้มีผลต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากอุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้น ทำให้ฤดูกาลต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ ก็จะค่อยๆ ตายลงและอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด สำหรับผลกระทบต่อมนุษย์นั้น อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้บางพื้นที่กลายเป็นทะเลทราย ประชาชนขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักเนื่องจากฝนตกรุนแรงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกและบนยอดเขาสูงละลาย ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ชายฝั่งทะเลได้รับผลกระทบโดยตรง อาจทำให้บางพื้นที่จมหายไปอย่างถาวร ดังนั้น ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นปัญหาสำคัญที่มวลมนุษยชาติจะต้องร่วมมือกันป้องกัน และเสริมสร้างความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

          การศึกษาภาวะโลกร้อนในประเทศไทยนั้นพบว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส (ภาพที่ 1) ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภาวะแห้งแล้งที่รุนแรงและยาวนาน ภาวะน้ำท่วมอย่างฉับพลันและเอ่อล้นเป็นเวลานาน และแผ่นดินถล่มหรือดินลื่นไถล ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเกษตรอย่างสูง เช่น พื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากภัยธรรมชาติไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ประสิทธิภาพพื้นที่การเกษตรให้ผลผลิตที่ลดลง การระบาดของโรคแมลง พื้นที่การเกษตรลดลงจากการกัดเซาะและจมตัวของแผ่นดินเนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มต่อระบบน้ำในแผ่นดินและระบบน้ำใต้ดิน พรรณพืชท้องถิ่นสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก (ภาพที่ 2) เหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคน ทั้งทางด้านการขาดแคลนน้ำและอาหาร การเกิดโรคระบาดและมลพิษ สุขภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาชีพและครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม


พูลศิริ ชูชีพ และ นวลปรางค์ ไชยตะขบ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร
โทร. 0-2579-5556