เทคโนโลยีการผลิต : มะพร้าวน้ำหอมกลายพันธุ์จริงหรือ ?
The Production Technology of Cocomut “Num Hom”

การปลูกและการผลิตมะพร้าวน้ำหอม
           การปลูกมะพร้าวให้ได้ผลดี ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้ คือ เลือกที่ปลูกดี ใช้พันธุ์ดี ปลูกถูกวิธี ดูแลรักษามะพร้าวให้สมบูรณ์ ปราศจากโรคและศัตรูที่มารบกวนและแก้ไขอุปสรรคที่เป็นตัวการทำให้มะพร้าวออกผลน้อย ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็เป็นที่เชื่อได้ว่าต้นมะพร้าวจะออกผลให้ดกแน่นอน

  1. การเลือกที่ปลูกมะพร้าว หลักทั่วไปในการเลือกที่ปลูกมะพร้าวควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ ฝน จะต้องมีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิ การปลูกมะพร้าวให้ได้ผลดีอุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 20-27 องศาเซลเซียส แสงแดด ปริมาณแสงแดดที่เหมาะสม วันละ 1.7 ชม. ความสูงของพื้นที่ การทำสวนมะพร้า
    วเพื่อการค้าควรเลือกพื้นที่ไม่สูงเกิน 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ดินที่ใช้ปลูกมะพร้าว มะพร้าวสามารถขึ้นได้กับดินทุกชนิด ถ้าดินเหล่านั้นมีปุ๋ยดี มีความชุ่มชื้นพอเพียง
  2. การปลูกมะพร้าว การเตรียมพื้นที่ปลูกมะพร้าว ถ้าเป็นพื้นที่ป่าควรถางพื้นที่ให้เตียน ถ้าเป็นที่ลุ่มต้องยกร่องปลูก ถ้าเป็นพื้นที่ลาดชันหรือบนเขาควรทำเป็นขั้นบันได ระยะปลูกมะพร้าว การปลูกมะพร้าวถี่มากเกินไปจะทำให้ออกผลไม่ดก แต่ถ้าปลูกห่างมากก็ได้ผลน้อย การปลูก ฤดูที่เหมาะสมสำหรับปลูกมะพร้าว ควรเริ่มปลูกในฤดูฝน โดยการขุดหลุมเล็กๆ ขนาดเท่าผลมะพร้าว แล้วเอามะพร้าววางลงในหลุ่มแล้วกลบและเหยียบดินข้างๆให้แน่น การดูแลรักษา ควรมีการไถพรวนระหว่างแถวมะพร้าวและไม่ลึกเกินไป ถ้าจะให้มะพร้าวเจริญงอกงามดีควรควบคุมวัชพืชในสวนมะพร้าว และควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสดบ้าง ส่วนปุ๋ยเคมีที่นิยมใส่ คือ 13-13-21 แต่อย่างไร ควรทำการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนทำการใส่ปุ๋ย
  3. โรคและแมลงที่สำคัญ โรค ประกอบไปด้วยโรคยอดเน่า โรคใบจุด โรคผลร่วง และโรคเอือนกิน แมลง ประกอบไปด้วย ด้วงแรด ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนาวมะพร้าว หนอนจั่นมะพร้าว หนอนร่านกินใบมะพร้าว

  4. พันธุ์มะพร้าว มะพร้าวน้ำหอม จัดอยู่ในกลุ่มมะพร้าวพันธุ์ต้นเตี้ยหรือที่รู้จักกันในชื่อมะพร้าวหมูสี มีหลายพันธุ์ เช่น มะพร้าวน้ำหอม มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ลำต้นขนาดเล็กไม่มีสะโพก ทางใบและใบย่อยสั้น มีอายุตกจั่นเร็ว ความหอมของมะพร้าวน้ำหอม จะพบว่ามีส่วนที่เราสามารถทดสอบความหอมได้ เช่น ปลายรากอ่อนของหน่อมะพร้าว กะลาของผลอ่อน น้ำ และเนื้อมะพร้าว สาเหตุที่มะพร้าวน้ำหอมไม่หอม ปัญหาที่ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพบบ่อยๆ คือ ความหอมจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุถึงแม้ว่าหน่อพันธุ์ที่ปลูกจะเป็นพันธุ์แท้ และเคยให้ความหอมมาก่อน เกิดจากบริเวณแปลงปลูกอาจมีต้นมะพร้าวใหญ่หรือมะพร้าวน้ำหวานปนอยู่ทำให้เกิดการผสมข้ามของละออกเกสร จากการวิจัยพบว่า มะพร้าวน้ำหอมที่ผสมกับมะพร้าวใหญ่และมะพร้าวน้ำหวาน ผลมะพร้าวจะไม่มีความหอม แต่ถ้าผสมตัวเองหรือผสมกับมะพร้าวน้ำหอม ผลมะพร้าวที่ได้จะมีความหอมไม่เปลี่ยนแปลง

การเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม
           ปัจจัยที่สำคัญต่อการเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม ได้แก่ พันธุ์ อายุหรือความแก่ของผล สภาพความสมบูรณ์ของผลมะพร้าว ธาตุอาหารพืช อุณหภูมิ น้ำ และแสงแดด

           เทคนิคการเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม
  1. การคัดเลือกผลมะพร้าว ผลมะพร้าวต้องสมบูรณ์และตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรคและแมลง รวมทั้งผลมีอายุพอดีไม่อ่อนหรือแก่เกินไป
  2. การเตรียมพื้นที่ ควรปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นราบสม่ำเสมอและควรมีร่องระบายน้ำ
  3. การปาดผล ควรทำการปาดผลออกประมาณ 1 ใน 4-5 ส่วนของผล เพื่อให้น้ำซึมเข้าในส่วนของกาบมะพร้าวได้
  4. การวางผล นำผลที่ปาดแล้วมาเรียงเป็นแถวๆ แบบสลับฟันปลา โดยให้ส่วนที่ปาดอยู่ด้านบน
  5. การคลุมผลมะพร้าว ส่วนใหญ่นิยมใช้ขุยมะพร้าวคลุมผลเพื่อรักษาความชื้น
  6. การรดน้ำ ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นและมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอตลอดเวลา
  7. การย้ายต้นกล้า ควรให้ต้นกล้ามีความแข็งแรงก่อน

การวิจัยเทคโนโลยีการผลิตต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมคุณภาพ
           การทดลองนี้ศึกษาถึงปริมาณแสง ชนิดของวัสดุเพาะ อายุและขนาดผล ที่มีผลต่อการงอก และการเจริญเติบโตของต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม โดยแบ่งพื้นที่การทดลองออกเป็น 2 แหล่ง คือ แปลงเกษตรกรอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และแปลงภายในสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลการศึกษา พบว่า การเพาะชำมะพร้าวน้ำหอมในโรงเรือนตาขายพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์มีเปอร์เซ็นการงอกที่สูง และผลมะพร้าวที่มีลักษณะเปลือกชั้นนอกมีสีน้ำตาลและมีความยาวของเส้นรอบผลมากว่า 57 เซนติเมตร ที่เพาะชำในขุยมะพร้าวหรือมีขุยมะพร้าวเป็นส่วนผสม มีแนวโน้มมีเปอร์เซ็นต์การงอกของผล ความสูงของต้นกล้า น้ำหนักของต้นกล้า ความยาวของราก จำนวนราก ความยาวของเส้นรอบโคนต้นกล้า และคะแนนความสมบูรณ์ของต้นกล้า มากที่สุด
           ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แสง และวัสดุเพาะชำมีอิทธิพลต่อการงอกและความสมบูรณ์ของต้นกล้ามาก และยังมีอิทธิพลต่อการที่จะเพาะชำกล้ามะพร้าวน้ำหอมให้ได้คุณภาพ


กิตติพงศ์ ตรีตรุยานนท์  จุลพันธ์ เพ็ชรพิรุณ  สมชาย วัฒนโยธิน  พนม สุทธิศักดิ์โสภน   และ วัลลภ โพธิ์สังข์
ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-7427, 0-2597-6959