สถานีวิจัยกาญจนบุรี สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร ได้ดำเนินการวิจัยการปลูกองุ่นร่วมกับภาควิชาพืชสวน
คณะเกษตร มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 จนถึงปัจจุบัน ในโครงการวิจัย เรื่องการวิจัยและพัฒนาศักยภาพการผลิตองุ่นและการทำไวน์ในเขตภาคตะวันตกของประเทศไทย
โดยได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัญหาที่สำคัญของการผลิตองุ่นรับประทานสดในเขตร้อนชื้นและมีฝนตกเป็นสาเหตุให้มีการระบาดและทำลายจากโรคและแมลงสูง
ทำให้ผลผลิตเสียหายและส่งผลให้คุณภาพของผลผลิตต่ำ สาเหตุนี้ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูองุ่นในปริมาณที่มากเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต
อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี และมีสารพิษตกค้างรวมทั้งคราบของสารเคมีบนผิวขององุ่นรับประทานสดซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อไปรับประทาน ผลผลิตราคาตกต่ำ
และขายไม่ได้
ในปัจจุบันการใช้หลังคาพลาสติกคลุมแปลงมีบทบาททางการเกษตรมากขึ้น ทั้งในด้านการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ
พืชผัก และไม้ผล ดังจะเห็นได้จากประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวันสหรัฐอเมริกา
ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และอิสราเอล ได้มีการนำหลังคาพลาสติกมาใช้เพื่อประโยชน์ในทางการเกษตรอย่างแพร่หลายและมีแนวโน้มการใช้
เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับจากหลังคาพลาสติกมีมาก โดยเฉพาะใช้ในการจัดการสภาพลมฟ้าอากาศให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
โดยการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน และปริมาณแสงแดด ตลอดจนป้องกันภัยธรรมชาติทั้งจากสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายต่อพืช
เช่น พายุฝน จากโรคพืช และสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช
สำหรับการใช้หลังคาพลาสติกคลุมแปลงองุ่นในฤดูฝนนั้น ทวีศักดิ์ ( 2532)
ทดลองการคลุมหลังคาพลาสติกกับองุ่นพันธุ์ Loose Perlette ในฤดูฝนที่จังหวัดเชียงใหม่
รายงานว่าจะทำให้เปอร์เซ็นต์ผลที่ดีสูง เปอร์เซ็นต์ผลที่แตกและผลที่เน่าต่ำ
ให้เปอร์เซ็นต์ TSS สัดส่วน TSS/TA ขนาดช่อและน้ำหนักช่อสูงกว่าการไม่คลุมหลังคาพลาสติกและยังทำให้ใบและผลเป็นโรคน้อยลง
การเน่าของผลหลังเก็บเกี่ยวลดลง ช่วยปรับปรุงคุณภาพผลให้ดีขึ้น และช่วยลดการพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงได้
อนุชา (2535) ได้ทดลองเช่นเดียวกันในพันธุ์ Beauty Seedless และมีการทดลองกับพันธุ์ไวน์มาละกาก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
(จรัส, 2518) และจากการเปรียบเทียบในเรื่องการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูนั้น
นับว่าประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานในการป้องกันกำจัดศัตรูต่าง ๆ ไปได้มาก
ผู้ปลูกและผู้บริโภคก็ปลอดภัยจากสารเคมีที่ใช้มากยิ่งขึ้น
สถานีวิจัยกาญจนบุรีได้ทำการทดลองปลูกองุ่นพันธุ์รับประทานสดภายใต้โครงหลังคาพลาสติกขนาด
150 ไมครอน พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้
ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ (ในช่วงฤดูฝน ปี 2549 ) เมื่อเปรียบเทียบกับองุ่นที่ปลูกนอกโครงหลังคา
และองุ่นที่ปลูกภายใต้โครงหลังคาสามารถเก็บผลผลิตได้มากและมีคุณภาพสูง
ขณะที่องุ่นนอกโครงหลังคาได้ผลผลิตน้อยและมีคุณภาพต่ำ
|