การพัฒนาพันธุ์ขิงแดงด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อร่วมกับการฉายรังสีแกมมา
Varietal Improvement of Red Ginger (Alpinia purpurata (Viell.) K. Schum.)
using Gamma rradiation and Tissue Culture Techniques

            นำหน่ออ่อนจากต้นขิงแดงมาฟอกฆ่าเชื้อที่ผิวด้วยสารละลายคลอร็อกซ์ แล้วจึงลอกกาบหุ้มใบออก ทำการเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อในอาหารแข็งสูตร MS ซึ่งเติม BA (benzyl adenine) ความเข้มข้น 1-2 มก.ต่อลิตร เพื่อการชักนำให้เกิดต้นจำนวนมาก จากนั้นจึงตัดแบ่งเพิ่มปริมาณต้นในสภาพปลอดเชื้อ จนกระทั่งมีปริมาณต้นมากพอจึงนำมาใช้ในการฉายรังสี นำต้นอ่อนขิงแดงที่ผ่านการตัดแบ่งและเปลี่ยนอาหารใหม่ อายุ 2 สัปดาห์ มาฉายรังสีแบบเรื้อรัง (chronic) โดยวางที่ชั้นมีแสงความเข้มประมาณ 2,000 ลักซ์ ห่างจากแหล่งกำเนิดรังสีที่ระยะ 2 เมตร ปริมาณรังสีเริ่มต้น 104.3 rad/hr ได้รับรังสีแกมมาเป็นเวลานาน 168 ชั่วโมง คิดเป็นปริมาณรังสีแกมมา 17,522 rad (175.22 Gy) ทำการตัดแบ่งและเปลี่ยนอาหารทุกๆ 2 เดือน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จึงนำมาทำการฉายรังสีแบบเรื้อรังซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยวางต้นขิงในสภาพปลอดเชื้อ ให้ห่างจากแหล่งกำเนิดรังสีแกมมา 1.5 เมตร ปริมาณรังสีเริ่มต้น 168.5 rad/hr ได้รับรังสีแกมมาเป็นเวลานาน 148 ชั่วโมง คิดเป็นปริมาณรังสีแกมมา 24,938 rad (249.38 Gy) ต้นขิงแสดงอาการใบด่างหลังจากที่นำมาตัดแบ่งเปลี่ยนอาหารครั้งที่ 2 (อายุ 4 เดือน) พบมีต้นขิงที่แสดงอาการใบด่างในอัตราร้อยละ 19.1 โดยอาการใบด่างจะยังปรากฏให้เห็นแม้ว่าจะตัดใบออกเพื่อย้ายเปลี่ยนอาหารใหม่ นอกจากลักษณะของอาการใบด่างที่เกิดขึ้น ยังพบว่าร้อยละ 7.3 ของต้นขิง แสดงอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ยใบลีบเล็ก ทั้งนี้จะทำการตัดแบ่งเปลี่ยนอาหารต่อไปทุกๆ 2 เดือน เมื่ออาการใบด่างยังคงปรากฏอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง จึงจะทำการย้ายปลูกต่อไปเพื่อศึกษาลักษณะของดอกและความคงที่ของความผันแปรทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นจากการเหนี่ยวนำโดยการฉายรังสีแกมมา

              ภาพแสดงลักษณะของอาการใบด่างแบบต่างๆ ของต้นขิงแดงที่เพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ และนำไปฉายรังสีแกมมาแบบเรื้อรัง 2 ครั้ง ปริมาณรังสีที่ได้รับเท่ากับ 175.22 Gy และ 249.38 Gy

 

 

ศิริวรรณ บุรีคำ
ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา
โทร. 0-2942-8652-3