เกร็ดความรู้เรื่อง “ พลับ ”
Practical  Fact  about “ Persimmon”

“พลับ ” ทำไมจึงฝาด

      พลับที่ปลูกอยู่ทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ พลับหวาน และ พลับฝาด

    1. พลับหวาน คือ พลับที่สามารถรับประทานได้ทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวในระยะที่แก่เต็มที่จะได้รสหวาน-กรอบ
    2. พลับฝาด คือ พลับที่ต้องนำไปผ่านขบวนการขจัดความฝาดหลังจากเก็บเกี่ยวในระยะที่แก่เต็มที่ ก่อนที่จะนำมาบริโภค

       สิ่งที่ทำให้เกิดความฝาดในผลพลับคือสารที่เรียกว่าแทนนิน เมื่อรับประทานพลับที่ยังไม่ได้ขจัดความฝาดเข้าไป สารแทนนินจะละลายในปาก ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความฝาด แต่ความฝาดนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด (เช่นเดียวกันเมื่อรับประทานกล้วยดิบก็จะมีรสฝาดเกิดขึ้น)

      สารแทนนินในผลพลับเป็นสารชนิดเดียวกับสารที่ทำให้เกิดความฝาดในรสชาติแห่งไวน์จากองุ่นแดงพันธุ์ดีและในรสชาติแห่งใบชาที่ได้ดื่มกินกันมาเป็นเวลาหลายพันปี นอกจากคุณสมบัติของ “แทนนิน” ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้พลับมีรสฝาดแล้ว ยังสามารถนำมาสกัดเป็นสารที่ใช้ประโยชน์ได้ในหลาย ๆ ทางด้วยกัน เช่น ป้องกันการยุ่ยหรือสลายของกระดาษในอุตสาหกรรมการทำร่ม ใช้ย้อมแหหรืออวนให้เหนียวทนทานได้นานปี ใช้เป็นตัวเร่งการตกตะกอนในอุตสาหกรรมทำเหล้าสาเก ทำให้เหล้าใสและมีรสกลมกล่อม เป็นต้น

กว่าจะมาเป็น “ พลับที่หายฝาด ”

      การขจัดความฝาด คือการทำให้สารแทนนินที่อยู่ในผลพลับซึ่งอยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ให้เปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่ไม่ละลายน้ำ เมื่อรับประทานสารแทนนินก็จะไม่ละลายในปาก จึงทำให้ผู้บริโภครับรู้แต่รสหวานของพลับ และโดยธรรมชาติแล้วพลับจะหายฝาดได้เองเมื่อปล่อยให้ผลสุกนิ่ม
การขจัดความฝาดของพลับสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

    1. การแช่ในน้ำปูนใส
    2. การบ่มด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
    3. การบรรจุสุญญากาศ

       แต่วิธีที่ปฏิบัติเป็นการค้าในปัจจุบันคือ การบ่มด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระยะเวลาในการขจัดความฝาดจะอยู่ในช่วง 4 - 7 วันขึ้นอยู่กับวิธีการ สภาพอุณหภูมิและความสุกแก่ของผล ก่อนนำผลพลับออกจำหน่าย โดยปกติผู้ปฏิบัติมักใช้วิธีสุ่มชิมจากการขจัดความฝาดในแต่ละชุดว่าหายฝาดแล้วหรือยัง ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากในการขจัดความฝาดแต่ละวิธี คือ

  1. ความสุกแก่ของผลพลับ ในภาชนะบรรจุเดียวกัน พลับต้องมีความสุกแก่อยู่ในระยะเดียวกัน เพราะพลับที่แก่มาก (ผิวผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมาก) จะใช้เวลาในการขจัดความฝาดน้อยกว่าพลับที่มีความแก่น้อยกว่า (ผิวผลยังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไม่มาก)
  2. วิธีบ่มด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การบรรจุผลพลับในถุงพลาสติกนั้นจะต้องไม่บรรจุมากเกินไป เพราะผลที่อยู่กันแน่นอาจจะไม่ได้สัมผัสกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างทั่วถึง และผลจะซ้อนทับกันหลายชั้นอาจทำให้เสียหายได้
  3. ผลพลับต้องไม่มีแผลหรือตำหนิ เพื่อลดโอกาสที่ผลจะเน่าเสียหายในระหว่างขจัดความฝาด

      เมื่อ “ พลับฝาด ” ผ่านขั้นตอนขจัดความฝาดอย่างสมบูรณ์ ก็จะได้ “พลับที่หวานกรอบ” ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายของมนุษย์ “ วันนี้คุณรับประทานผลพลับ ผลไม้แห่งสุขภาพ แล้วหรือยัง ? ”

ผลสุก

วิธีขจัดความฝาด


โอฬาร ตัณฑวิรุฬห์ และ วีระศรี เมฆตรง 
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 0-2579-2291, 0-2579-6959