“พลับ” ป่าไม้ผลอีกชนิดหนึ่งบนที่สูงของจังหวัดเลย
“ Persimmon” one orchard tree on the highland of Loei Province

        จังหวัดเลยมีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาล้อมรอบ แบ่งเป็น 3 เขต คือ เขตภูเขาสูง เขตที่ราบเชิงเขา และเขตที่ราบลุ่ม อำเภอภูเรือและอำเภอนาแห้วอยู่ในเขตภูเขาสูง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร และ 900 เมตรตามลำดับ การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเพาะปลูกพืชในสภาพพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเลือกชนิดพืชปลูกและการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม

        มูลนิธิโครงการหลวงได้ทำการศึกษาวิจัยทางด้านการเกษตรที่เหมาะสมสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง ได้นำไม้ผลเขตหนาวเข้ามาปลูกทดสอบหลายชนิดเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น “พลับ” เป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่นำเข้ามาปลูกทดสอบ ขยายพันธุ์โดยการเปลี่ยนยอด และสามารถใช้ “กล้วยฤาษี” เป็นต้นตอ ซึ่งเป็นไม้ป่าบนที่สูงของประเทศไทยตระกูลเดียวกับพลับ ปัจจุบัน “พลับ” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งบนพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย

       อย่างไรก็ตาม พลับสามารถขึ้นได้ดีตั้งแต่ระดับพื้นราบของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย จนกระทั่งถึงบนพื้นที่สูง 1,300 – 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นอยู่กับพันธุ์ ดังนั้น สภาพพื้นที่ของอำเภอภูเรือและอำเภอนาแห้วจึงน่าที่จะปลูกพลับได้ดี แต่เนื่องจาก “พลับ” เป็นไม้ต่างถิ่น สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องพลับมาเป็นระยะเวลายาวนาน (โดยมีพื้นที่ศึกษาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเพชรบูรณ์) จึงได้จัดทำ “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพลับ” ขึ้นในพื้นที่จังหวัดเลยและทำการประเมินผลจากผู้เข้าร่วมโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตพลับให้ แก่นักวิชาการและเกษตรกรในพื้นที่ เป็นแนวทางในการสร้างป่าไม้ผลอีกชนิดหนึ่งบนพื้นที่สูงของจังหวัดเลย เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนโดยยึดหลักการใช้ศักยภาพของพื้นที่ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด พื้นที่เป้าหมายคือพื้นที่สูงในเขตอำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 210 คน เป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการจำนวน 80 คน เกษตรกรจากอำเภอนาแห้ว อำเภอภูเรือ และอำเภอด่านซ้าย รวมทั้งสิ้น 130 คน ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า พลับเป็นไม้ผลที่น่าสนใจปลูก โดยมีแนวความคิดที่จะปลูกในพื้นที่ตั้งแต่ 1–15 ไร่ แต่เกษตรกรยังมีความกังวลในเรื่องปัญหาการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและแหล่งจำหน่ายผลผลิต


    

    


โอฬาร ตัณฑวิรุฬห์  และ วีระศรี เมฆตรง 
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579- 2291, 0-2579- 6959