คาลล่า ลิลลี่ : ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรบนที่สูง

           คาลล่า ลิลลี่(Calla Lily) เป็นไม้ดอกประเภทหัวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zantedeschia spp. อยู่ในวงศ์ (Family) Araceae มีถิ่นกำเนิดในอัฟริกาใต้มีหลากหลายสายพันธุ์ใช้ได้ทั้งเป็นไม้ตัดดอกไม้ประดับ และไม้กระถาง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

           กลุ่มที่ 1  ประเภทไม้หัวยืนต้น หรือกลุ่มที่ไม่มีการพักตัว เช่น Zantedeschia aethiopica มีดอกสีขาวใบเขียวเข้มเป็นมันออกดอกตลอดปี ดอกดกในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนปริมาณดอกจะลดลงในช่วงฤดูฝน ชอบแสงอาทิตย์เจริญเติบโตได้ดีภายใต้การพลางแสง 50-70 เปอร์เซ็นต์ จะให้ดอกที่ มีคุณภาพปริมาณการให้ดอกประมาณ 15-17 ดอกต่อกอต่อปี ดอกสามารถปักแจกันในน้ำธรรมดาได้นาน 7-14 วัน

           กลุ่มที่ 2  ประเภทไม้หัวล้มลุกหรือกลุ่มที่มีการพักตัวมีหลากหลายพันธุ์ เช่น Z. elliottiana, Z. albomaculata, Z. pentlandii, Z. rehmanii, Z. jucanda มีการผลิตหัวใตัดินและพักตัวในช่วงฤดูหนาวลักษณะการเจริญเติบโตรูปร่างและสีของใบแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์จำนวนดอกต่อต้นขึ้นอยู่กับขนาดของหัวพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันได้แก่ Black eye, Black magic, Childsiana, Green calla และ Sunlight

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

           หัวและราก
           หัวของคาลล่า ลิลลี่ เรียกว่า“ไรโซม“(Rhizome) หรือ “ทิวเบอร์”(Tuber) เจริญอยู่ใต้ดิน ที่หัวมีตาอยู่มากมายซึ่งจะเจริญและพัฒนาขึ้นเมื่อได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ส่วนรากเป็นระบบรากย่อยเจริญออกมาจากหัว

           ดอกและช่อดอก
           ช่อดอก (spadix) ตั้งอยู่ตรงกลาง spathe ที่มีสีแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดและพันธุ์ช่อดอกจะประกอบด้วยกลุ่มเกสรตัวผู้อยู่ด้านบน ซึ่งเมื่อแก่จะพบละอองสีเหลืองอยู่มากมายและเกสรตัวเมียเมื่อแก่จะมีน้ำเมือกเหนียวๆ ติดอยู่ด้านล่างของช่อดอกเมื่อดอกได้รับการผสมพันธุ์จะติดเมล็ดและเมื่อเมล็ดแก่เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีส้ม

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของ คาลล่า ลิลลี่

           แสงและช่วงแสง
           คาลล่า ลิลลี่ เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งกลางแจ้งและร่มรำไรระดับความเข้มของแสงและความยาวของวันไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอกส่วนความยาวของวันจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นเมื่อได้รับความยาวของวันมากขึ้นจะทำให้ลำต้นสูงขึ้นกว่าต้นที่ได้รับสภาพวันสั้นและการพลางแสงด้วย ซาแลน 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มที่ไม่มีการพักตัว (Zantedeschia aethiopica) จะทำให้คุณภาพดอกด้านความยาวก้านและทรงพุ่มสูงขึ้น

           อุณหภูมิ
           อุณหภูมิมีผลต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกของ คาลล่า ลิลลี่ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูก คาลล่า ลิลลี่ มีความสำคัญคือ อุณหภูมิดินและอุณหภูมิอากาศ อุณหภูมิกลางวันและอุณหภูมิกลางคืน อุณหภูมิกลางวัน/อุณหภูมิกลางคืน ที่ 18 – 24 องศาเซลเซียส/12 – 18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิดินที่ 18 – 24 องศาเซลเซียสถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้จะทำให้เหมาะสมในการเกิดโรคได้การพลางแสงหรือการคลุมแปลงจะช่วยลดอุณหภูมิดินได้และทำให้คุณภาพของดอกดีขึ้น

           ศัตรูสำคัญ ของคาลล่าลิลลี่
           แมลงศัตรูของ คาลล่า ลิลลี่ ที่พบมากที่สุดคือ หนอน เพลี้ยอ่อน ทาก และหนอนเจาะลำต้น ป้องกันกำจัดโดยใช้ยาสัมผัส และยาดูดซึมโรคที่เป็นปัญหามากที่สุดของ คาลล่า ลิลลี่ คือโรคเน่าเละ เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia sp., Fusarium sp. และเชื้อแบคทีเรีย Erwinia sp. จะพบมากในกลุ่มของที่มีการพักตัวโดยเฉพาะแปลงที่มีความชื้นสูง

การขยายพันธุ์
           การขยายพันธุ์ คาลล่า ลิลลี่ สามารถทำได้หลายวิธี คือ

    1. การเพาะเมล็ด เป็นวิธีการที่นิยมทำเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ผลิตลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ แปลกๆ แต่ไม่นิยมทำในการผลิตเพื่อตัดดอก
    2. การขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ เพิ่มปริมาณให้มาก ในกลุ่ม Z.aethiopica หลังปลูกจะใช้เวลา ให้ดอกนาน 2-6 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่อ ส่วนในกลุ่มที่มีการพักตัวการให้ดอกขึ้นอยู่กับขนาดของหัวพันธุ์ หัวพันธุ์ที่มีขนาดเล็กจะต้องปลูกเลี้ยงหัวเพื่อให้หัวมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะสามารถปลูกเพื่อตัดดอกได้
    3. การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการขยายพันธุ์ที่สมารถเพิ่มปริมาณต้นได้จำนวนมากในระยะเวลาที่สั้น นิยมทำกันในการปลูกเพื่อตัดดอกเป็นการค้าหลังจากนำต้นออกขวดสามารถให้ดอกได้ภายใน 6-7 เดือน (สำหรับกลุ่ม Z.aethiopica) ส่วนในกลุ่มที่มีการพักตัว การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้หลังจากนำต้นออกขวดจะต้องปลูกเพื่อให้ได้หัวพันธุ์มีขนาดที่เหมาะสมโดยต้องปลูก 2-3 ครั้ง เพื่อให้ได้หัวขนาด 4-5 เซนติเมตร จึงจะสามารถปลูกเพื่อตัดดอกได้

ตัดดอกและการคัดเกรด มีวิธี ดังนี้

    1. ตัดดอกในตอนเช้า
    2. ดอกที่จะตัดได้ต้องเป็นตัวที่กลีบดอกเริ่มคลี่ประมาณ 10 - 70 %
    3. 3. จุ่มต้นดอกในสารละลายน้ำตาล 3% เพื่อป้องกันก้านดอกแตกปลาย
    4. การคัดเกรด แบ่งเป็น 4 เกรด
      • เกรด AA ขนาดความยาวก้าน 80 เซนติเมตรขึ้นไป
      • เกรด A ขนาดความยาวก้าน 60 เซนติเมตรขึ้นไป
      • เกรด B ขนาดความยาวก้าน 45 เซนติเมตรขึ้นไป
      • เกรด C ขนาดความยาวก้าน 30 เซนติเมตรขึ้นไป


บัวบาง ยะอุป
สถานีวิจัยดอยปุย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-53-211-142