พลับเป็นไม้ผลกึ่งร้อนที่มีการนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยเป็นระยะเวลาที่ยาวนานโดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย มีการนำเข้ามาปลูกตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2471 แต่เริ่มมีการนำพันธุ์ต่างๆ เข้ามาทดลองปลูกอย่างจริงจังช่วงปีพ.ศ.
2521 จนทำให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถปลูกเป็นการค้าได้ในปัจจุบัน 3 สายพันธุ์ด้วยกัน
คือ พันธุ์ Xichu, Fuyu และ Hyakume โดยเฉพาะพันธุ์ Hyakume ซึ่งจัดเป็นพลับหวานที่มีผลขนาดใหญ่น้ำหนักประมาณ
200-300 กรัมต่อผลโดยเฉลี่ย แม้จะจัดเป็นพลับหวานแต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ได้จำหน่ายในรูปแบบของพลับฝาด คือต้องผ่านขบวนการขจัดความฝาด ที่เป็นเช่นนี้เพราะพลับพันธุ์นี้จะหวานต่อเมื่อมีเมล็ดเท่านั้น
โดยเฉพาะเนื้อผลบริเวณรอบๆเมล็ดและต้องมีเมล็ดมากพอจึงจะทำให้หวานทั้งผลได้
ซึ่งรสชาติของพลับพันธุ์นี้จะหวานกรอบอร่อย โดยมีความหวานแหลมกว่าพันธุ์
Fuyu ทำให้จำหน่ายได้ในราคาที่ดีกว่าการจำหน่ายแบบฝาด ตลอดจนอายุในการวางจำหน่ายในท้องตลาดจะยาวนานขึ้นเพราะไม่ต้องผ่านขบวนการขจัดความฝาด
ซึ่งทำให้ผลพลับเน่าเสียภายใน 1 สัปดาห์ และการทำให้พลับพันธุ์ Hyakume
หวานทั้งผลนี้ มีแนวทางที่จะทำได้โดยการช่วยผสมเกสร ซึ่งจะทำให้เปอร์เซ็นต์การติดผลดีขึ้นและน้ำหนักต่อผลเพิ่มมากขึ้นด้วย
เมื่อได้พลับพันธุ์ Hyakume จำหน่ายในรูปแบบพลับหวานแล้ว จะได้ราคาดีและอายุการวางจำหน่ายในท้องตลาดยาวนานขึ้น
ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมีทางเลือกที่จะดำเนินการผลิตในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
จากการใช้เกสรตัวผู้พลับพันธุ์ฮอดและหงเหม่ยผสมกับดอกตัวเมียพลับพันธุ์
Hyakume ปรากฏว่าหวานทั้งผล 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเปอร์เซ็นต์ความหวานทั้งผลนี้จะสัมพันธ์ในทางบวกกับจำนวนเมล็ดต่อผล
จากการทดลองพบว่าพลับพันธุ์ Hyakume เมื่อมี 3 เมล็ดต่อผลจะทำให้ผลพลับอยู่กึ่งกลางระหว่างหวานทั้งผลกับหวานบางส่วน
โดยจะหวานทั้งผลประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้พลับพันธุ์
Hyakume นี้หวานทั้งผล 100 เปอร์เซ็นต์ต้องมีเมล็ดอย่างน้อยที่สุด
4 เมล็ดต่อผล ถ้ามีเมล็ดน้อยกว่านี้แล้วเปอร์เซ็นต์หวานทั้งผลก็จะลดน้อยลง
การที่ผลพลับพันธุ์นี้หวานต่อเมื่อมีเมล็ดนั้นเนื่องจาก ปริมาณสารละลายแทนนิน
ซึ่งทำให้ผลพลับฝาดจะไม่ปรากฏถ้าหากมีเมล็ดเกิดขึ้นอย่างเพียงพอกับพลับพันธุ์นี้
ในที่นี้คือ 4 เมล็ดและเนื้อของผลจะเปลี่ยนสีเป็นเป็นสีน้ำตาลแดง เชื่อว่าเกิดจากการอ๊อกซิไดซ์สารของเซลแทนนิน
นอกจากนี้ผลที่มีเมล็ดจะมีขนาดของผลใหญ่ขึ้น เนื่องจากเมล็ดเป็นแหล่งฮอร์โมนที่สำคัญและฮอร์โมนจะมีผลต่อขนาดของพลับ
การผลิตพลับพันธุ์
Hyakume เพื่อจำหน่ายได้แบบพลับหวานนั้นต้องใช้ เกสรตัวผู้บริสุทธิ์ไม่มีการเจือปนด้วยวัสดุอื่นทำการผสม
จึงจะทำให้ผลผลิตพลับพันธุ์นี้หวานทั้งผล 100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรสามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตพลับพันธุ์
Hyakume ในรูปแบบใหม่เพื่อจำหน่ายได้แบบพลับหวาน และวิธีการผสมเกสรด้วยมือ
(Hand Pollination) ง่ายไม่ซับซ้อน ต้นทุนเพิ่มเพียงเล็กน้อยแต่จำหน่ายได้ในราคาที่ดีกว่าเดิมมาก
แนวทางในการพัฒนาขั้นต่อไปคือทำอย่างไรจึงจะสามารถเจือปนสารตัวอื่นลงในเกสรตัวผู้
เพื่อลดปริมาณการใช้เกสรตัวผู้ลง เพราะจากการทดลองที่ผ่านมายังใช้ไม่ได้ผล
ตลอดจนการใช้เครื่องมือพ่นอัตราส่วนผสมเหล่านี้ เพื่อช่วยการผสมเกสรในพลับพันธุ์
Hyakume ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากนี้อาจใช้กับพลับพันธุ์อื่นๆ
เพื่อป้องกันการร่วงของผลและเป็นการพัฒนาคุณภาพของพลับไปในตัวด้วย
ขั้นตอนและการคัดเลือกดอกในการผสมเกสรด้วยมือในพลับ
- เก็บดอกตัวผู้ขณะตูม (ก่อนบาน 1 วัน) ผึ่งในที่ร่ม 1 คืน
- นำดอกในข้อที่ 1 มาเคาะดอกเก็บเกสรตัวผู้ในขวดขนาดเล็ก
- เลือกดอกตัวเมียพลับพันธุ์ Hyakume ระยะก่อนดอกบาน 1 วัน วันดอกบานและหลังดอกบาน 1 วัน (ช่วงระยะเวลา 3 วัน)
- นำเกสรจากข้อ 2 มาผสมกับดอกตัวเมียในข้อ 3 โดยใช้พู่กันขนาดเล็ก(เบอร์0) แตะละอองเกสรตัวผู้แล้วนำมาแตะบนยอดเกสรตัวเมีย(Stigma)
- เสร็จการผสมเกสรแล้ว ทำการหมายดอกไว้
การหมายดอกที่ผสม
|
ผลที่มีตั้งแต่ 4 เมล็ดขึ้นไป
จะหวานทั้งผล
|
ผลที่มีเมล็ดน้อยมีรสหวาน
และฝาดอยุ่ในผลเดียวกัน
|
ผลที่ห่อแล้ว
|
ลักษณะภายนอกผล
|
แสดงขนาดของผล
|
|