ธนาคารพันธุกรรมพืช 50 ปีแห่งการวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Plant germplasm bank, 50 year-research out come of Kasetsart University

                 โครงการธนาคารพันธุกรรมพืช 50 ปี แห่งการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เก็บรวบรวมและอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชที่ได้จากการวิจัยปรับปรุงพันธุ์แล้ว เป็นพืชไร่ พืชสวน และพืชสมุนไพร ภายใต้สภาพเย็นยิ่งยวด ในไนโตรเจนเหลว ณ อุณหภูมิ -196 oC การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในสภาพดังกล่าว เป็นการหยุดปฏิกิริยาการย่อยสลายและแบ่งเซลล์โดยสิ้นเชิง เมล็ดภายใต้สภาพเย็นยิ่งยวดไม่มีปฏิกิริยาการย่อยสลายเป็นผลทำให้ไม่มีการเสื่อมชีวิต จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเมล็ดไปปลูกเพื่อสืบทอดพันธุ์ ในช่วงเวลาของการเก็บรักษาพันธุ์แต่อย่างใด หมดปัญหาการกลายพันธุ์ เมื่อละลายเกล็ดน้ำแข็งออกเซลล์ยังคงมีชีวิตดังเดิม เมื่อต้องการใช้ทำพันธุ์เมื่อใดก็สามารถนำมาเพาะปลูกได้ทันที

                  ขณะนี้โครงการฯได้เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์จากการปรับปรุงพันธุ์ของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และเก็บรักษาในไนโตรเจนเหลวแล้ว 25 ชนิดพืช 239 พันธุ์ และได้จัดเก็บลักษณะประจำพันธุ์ ประวัติพันธุ์ ประวัติของนักปรับปรุงพันธุ์และผู้ร่วมวิจัย ไว้ในฐานข้อมูล นักวิจัยผู้ปรับปรุงพันธุ์ได้แก่ ศ.ดร.สุจินต์ จินายน และดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนะพงศ์ ปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งได้ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร อาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา ภาควิชาโรคพืช และกีฏะวิทยาหลายท่านใช้เวลามากกว่า 10 ปี ได้ข้าวโพดพันธุ์ “สุวรรณ 1” ใช้เป็นฐานพันธุกรรม ข้าวโพดพันธุ์ใหม่ต่อๆมา เช่น ศ.ดร.ชำนาญ ฉัตรแก้ว ได้พัฒนาพันธุ์ ข้าวโพดฝักอ่อนและข้าวโพดไร่ อาจารย์ธวัชชัย ประศาสน์ศรีสุภาพ และอาจารย์วีระศักดิ์ ดวงจันทร์ ได้สืบเนื่องพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ดีหลายพันธุ์ และต่อเนื่องด้วย ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสม และ และข้าวโพดหวานลูกผสม ดร.สรรเสริญ จำปาทอง ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดไร่ลูกผสม และอาจารย์สุรณี ทองเหลือง ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว รศ.ดร.กฤษฎา สัมพันธารักษ์ ได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวาน และยังได้ร่วมกับ รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ และคณะ สร้างฐานพันธุกรรมข้าวฟ่างไว้อีกด้วย ข้าวฟ่าง และหญ้าไข่มุก ต่อมาปรับปรุงพันธุ์โดย อาจารย์ธำรงศิลป์ โพธิสูง และคณะ ข้าวสาลีพันธุ์”อินทรี1” “อินทรี2” และข้าวบาร์เลย์ทนร้อน อายุสั้นคุณภาพดี พันธุ์ “อ่างขาง 1 “และ“อ่างขาง 2 “ ฝ้ายพันธุ์”รัชฎา 1” และ ”รัชฎา 2” ปรับปรุงพันธุ์โดย รศ.ดร.งามชื่น รัตนดิลก ฝ้ายพันธุ์ “ตากฟ้า 2” ปรับปรุงพันธุ์โดย ดร.ประพนธ์ บุญรำพรรณ ถั่วลิสง ปรับปรุงพันธุ์โดย ดร.สุนทร ดวงพลอย และต่อเนื่องโดย ศ. ดร.อารีย์ วรัญญูวัฒก์ ได้ถั่วลิสงพันธุ์ดี ต่อมา รศ.ดร.จวงจันทร์ ดวงพัตรา ได้นำมาคัดเลือกได้ถั่วลิสงเมล็ดใหญ่พันธุ์ “เกษตรศาสตร์ 50” รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ และคณะได้ปรับปรุงพันธุ์ คำฝอย และ งาดำพันธุ์ “มก.18” และงาขาวพันธุ์ “มก.19 “และ “มก.20” และ งาขาวแนวใหม่ “ซีพลัส 1” และ”ซีพลัส 2” เมื่อสุกแก่ทางสรีระวิทยาเต็มที่ฝักไม่แตก สามารถแก้ปัญหาเมล็ดหล่นร่วงขณะเก็บเกี่ยว พันธุ์พืชไร่ที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนได้รับการพัฒนาพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ซึ่งหัวหน้า/ผู้อำนวยการศูนย์ฯ สถาบันอินทรีย์ จันทรสถิตทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งนักวิชาการเกษตรหลายท่าน ที่มีส่วนสำคัญร่วมสร้างฐานพันธุกรรมข้าวโพด และสร้างข้าวโพดพันธุ์ดีพันธุ์สืบเนื่องต่อเนื่องกันมาที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ผศ.ธวัช ลวเปารยะ ได้สร้างพันธุ์ข้าวโพดหวานต้านทานโรคราน้ำค้างชื่อ ซูปเปอร์สวิทดีเอ็มอาร์ ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ และได้ปฏิบัติงานภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้พัฒนาพันธุ์พืชหลายชนิดได้แก่ข้าวโพดหวานพันธุ์ “ฉัตรทอง” “ทองดี” “จักรา” และ “เขาหินซ้อน” ข้าวโพดเหนียวหวานพันธุ์ “ฉัตรเงิน” ข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์ “อมร” ข้าวโพดคั่วพันธุ์ “เกษร” ถั่วฝักยาวพันธุ์ “พนมสารคาม” และถั่วฝักยาวพุ่มพันธุ์ “เขาหินซ้อน” ศ.ดร.สุมินทร์ สมุทรคุปติ์ นำคณะทำการปรับปรุงพันธุ์ ถั่วเหลืองพันธุ์”ดอยคำ” และถั่วที่สูง ในมูลนิธิโครงการหลวง ศ.ดร.อภิพรรณ พุกภักดี ได้นำสายพันธุ์ถั่วเหลืองของประเทศบราซิลมาปลูกเปรียบเทียบทั่วประเทศและคัดเลือกจนได้ พันธุ์”จักรพันธ์”ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ ได้ปรับปรุงพันธุ์ ถั่วเขียว พันธุ์ ”กำแพงแสน1” และ “กำแพงแสน 2” แหล่งวิจัยหลักอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อนและนำไปทดสอบในหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรหลายแห่ง ผศ.ดร.ม.ล.อโณทัย ชุมสาย ได้ปรับปรุงพันธุ์ ผักกวางตุ้งดอกนอกฤดู มะเขือเทศพันธุ์”สีดา มก.” และถั่วฝักยาวพันธุ์ “มก.7” ผศ. ดร.เกษม พิลึก ได้ต่อเนื่องในโครงการ KU-JICA ปรับปรุงพันธุ์ถั่วฝักยาวพันธุ์ “มก.8” กระเจี๊ยบเขียว พันธุ์ “OK-5” และแตงกวาผลสั้นพันธุ์” ซี-4” มีดอกเพศเมียดก อาจารย์พรพันธ์ ภู่พร้อมพันธุ์ ได้นำถั่วฝักยาวในคลังเก็บรักษามาศึกษาเปรียบเทียบพันธุ์ คุณประเทือง ดอนสมไพร ได้สานต่อ ปรับปรุงพันธุ์ ถั่วฝักยาวพันธุ์”มก. 9” หรือ “ กำแพงแสน 20” ซึ่งหัวหน้างานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืช ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลองมีส่วนร่วมสืบทอดเก็บรักษาพันธุ์ไว้ รศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ ร ได้คัดเลือกมะละกอผลเล็กเนื้อแน่น รสหวานพันธุ์ “ปากช่อง”สถานีวิจัยปากช่อง นอกจากนั้นศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อนแห่งชาติ ได้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ พริก มะเขือเทศ และพืชผักอื่นๆอีกหลายพันธุ์

ตารางแสดงชนิดพืชและจำนวนตัวอย่างที่เก็บรักษาในคลังเก็บรักษาในสภาพเย็นยิ่งยวด -196 oC



 

ภาณี ทองพำนัก กำไล เรียนหัตถกรรม บัวหลวง พนแปร กุลธิดา สุภัทรศักดา และ ประเทือง ดอนสมไพร
งานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืช ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน
โทร 034-351399 ต่อ 444, 081-4512-908