การขยายพันธุ์เฟิร์นปีกแมลงทับ : เฟิร์นชนิดใหม่ของโลกและหายาก
Propagation of Microsorum Thailandicum T.Boonkerd & Noot: World ‘ s New and Rare

           เฟิร์นปีกแมลงทับ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Microsorum Thailandicum T.Boonkerd & Noot เป็นเฟิร์นชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบโดยอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฟิร์นชนิดนี้เกาะอาศัยอยู่ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูง มีแสงรำไร ใบยาวสีเขียวปนน้ำเงินเป็นมันวาว คล้ายสีปีกแมลงทับ เนื่องจากใบมีสีสันแปลกตาและสวยงาม จึงมีผู้นำออกจากป่ามาขายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้จำนวนเฟิร์นชนิดนี้มีปริมาณน้อยลงและหายากยิ่งขึ้น ประกอบกับการเจริญเติบโตค่อนข้างช้าและไม่พบสปอร์ที่ใบ การเพิ่มปริมาณในสภาพธรรมชาติจึงช้าเช่นกัน ดังนั้นการขยายพันธุ์โดยการแบ่งกอเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ ทางห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงได้ทดลองหาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเฟิร์นชนิดนี้ขึ้น

วิธีการขยายพันธุ์เฟิร์นปีกแมลงทับ

  1. การขยายพันธุ์โดยการแบ่งกอ นำต้นเฟิร์นปีกแมลงทับที่เลี้ยงไว้จนกระทั่งต้นขยายกอขนาดใหญ่ขึ้น นำมาแบ่งแยกให้กอมีขนาดเล็กลง แล้วนำไปปลูกลงกระถางใหม่
  2. การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    2.1 การฟอกฆ่าเชื้อ นำใบอ่อนที่ยังม้วนอยู่มาผ่านขั้นตอนการฟอกฆ่าเชื้อ ตัดเป็นชิ้นขนาดประมาณ 0.5 – 1 ซม. เลี้ยงบนอาหาร MS ที่เติม BA 5 มก./ลิตร นาน 6 – 8 เดือน
    2.2 การเพิ่มปริมาณต้น เมื่อเนื้อเยื่อเริ่มมีพัฒนาการ นำต้นมาตัดแบ่งเนื้อเยื่อและเปลี่ยนอาหาร ทุก 1.5-2 เดือน จะได้ปริมาณต้นเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า
    2.3 การชักนำให้ออกราก ในช่วง 1 – 2 ปีแรก ไม่สามารถชักนำเฟิร์นปีกแมลงทับให้ออกรากได้ ไม่ว่าจะกระตุ้นรากด้วยการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตหรือไม่ใช้เลย จนกระทั่งเมื่อย่างเข้าปีที่ 3 เฟิร์นปีกแมลงทับจึงสามารถออกรากได้
  3. การปรับสภาพและอนุบาลต้นกล้าในโรงเรือน
    3.1 นำขวดเฟิร์นที่ต้นมีขนาดพร้อมปลูกไปตั้งไว้ในโรงเรือน ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อปรับสภาพก่อนปลูก
    3.2 ล้างวุ้นออกจากรากให้สะอาด และปลูกลงบนวัสดุปลูก เช่น ขุยมะพร้าว หรือขี้เถ้าแกลบ ใส่ถุงพลาสติกหรือครอบกระโจม เพื่อเก็บรักษาความชื้นไว้ภายใน เฟิร์นจึงจะเจริญเติบโตได้ดี
    3.3 พ่นปุ๋ยทางใบทุก1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ธาตุอาหารกับเฟิร์น




 

มณฑา วงศ์มณีโรจน์ รงรอง หอมหวล อำพล ยอดเพชร และ ดวงดาว พุ่มประทีป
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นครปฐม
โทร 034-351-399 หรือ 034-281-092