การถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำสไลด์เนื้อเยื่อพืชสำหรับงานวิจัย
Technology Transfer of Plant Tissue Slide Production for Research.

           การถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างงานวินิจฉัยและกักกันศัตรูพืช ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน กับสาขาวิชาพฤกษศาสตร์ สายวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์และวิทยา ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม มีการดำเนินงานวิจัยในรูปแบบของการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการนำโครงสร้างส่วนต่างๆ ของพืชมาทำเป็นสไลด์ถาวรและสไลด์ชั่วคราวด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพืช ตลอดจนการเก็บรักษาตัวอย่างพืชให้มีความคงทนนานนับปี และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นต่อไปได้ เนื้อหาในการจัดฝึกอบรมประกอบด้วย

    1. ภาคบรรยาย ซึ่งเป็นการบรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เข้าใจถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกายวิภาคของพืช และแขนงวิชาที่เกี่ยวข้อง ข้อควรปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ เทคนิคการทำสไลด์ถาวรแบบ Paraffin Method ซึ่งเป็นการนำเนื้อเยื่อพืชมาผ่านกรรมวิธีคงสภาพและดึงน้ำออกจากเซลล์ ก่อนนำมาฝังบล็อกพลาสติกที่มีพาราฟินอยู่ แล้วตัดด้วยเครื่อง Rotary Microtome ให้เป็นแผ่นแบนบาง นำมาติดบนกระจกสไลด์แล้วย้อมสี เคลือบด้วยสารรักษาสภาพเนื้อเยื่อ การทำสไลด์ถาวรแบบ Whole-Mount Method เป็นการนำชิ้นส่วนเนื้อเยื่อพืชที่มีลักษณะแบนบาง มาผ่านการย้อมสีและคงสภาพ ก่อนนำมาติดบนกระจกสไลด์ การทำสไลด์ถาวรแบบ Smear Method และ Squash Method เป็นวิธีการนำเซลล์หรือเนื้อเยื่อพืชที่มีลักษณะอ่อนนุ่มมาเกลี่ยให้แยกออกจากกัน แล้วทำการย้อมสี และคงสภาพเนื้อเยื่อตามขั้นตอนต่างๆ บนกระจกสไลด์ รวมทั้งการทำสไลด์ชั่วคราวแบบต่างๆ สำหรับงานวิจัยทางด้านพืช และการนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
    2. ภาคปฏิบัติการ เป็นการฝึกทักษะในการทำสไลด์ถาวรและสไลด์ชั่วคราวแบบต่างๆ การใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น Rotary Microtome การถ่ายภาพจากสไลด์ถาวรและสไลด์ชั่วคราวด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบ Compound Microscope with Photographic
    3. การทัศนศึกษาและดูงานนอกสถานที่ ศึกษาจากหน่วยงานที่มีการใช้สไลด์ถาวรเนื้อเยื่อพืชและสัตว์ ในการค้นคว้าวิจัย คือ งานวิจัยพืชผลหลังเก็บเกี่ยว  งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช  งานชีวเคมีและห้องปฏิบัติการกลาง ของฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง  และงานชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
           การอบรมรุ่นที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-28 เมษายน 2549 และรุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2549 ผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิตและนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ ทั้งจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา รวมทั้งจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในรุ่นที่ 1 มีผู้เข้ารับการอบรม 15 คน และรุ่นที่ 2 มีผู้เข้ารับการอบรม 19 คน ความรู้ก่อนเข้ารับการอบรมของผู้เข้ารับการอบรมรุ่นที่ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในระดับน้อยคือ ค่าเฉลี่ย 2.47 ส่วนรุ่นที่ 2 อยู่ในระดับปานกลางคือ ค่าเฉลี่ย 2.74 หลังจากเข้ารับการอบรมแล้วมีความรู้เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับดีทั้งสองรุ่นคือค่าเฉลี่ย 4.47 และ 4.37 ในรุ่นที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ความเหมาะสมของสถานที่จัดฝึกอบรม ความเหมาะสมของเนื้อหาในภาคบรรยายและภาคปฏิบัติการ ระยะเวลาในการอบรม อุปกรณ์และสื่อในการนำเสนอของวิทยากร มนุษยสัมพันธ์ระหว่างวิทยากรกับผู้เข้ารับการฝึกอบรม การนำไปประยุกต์ใช้ในงานที่เกี่ยวข้อง และประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับดีถึงดีมากเป็นส่วนใหญ่ในทั้งสองรุ่น (4.11-4.93) ผู้เข้ารับการ อบรมมีความพอใจในระดับมากเกี่ยวกับเนื้อหาที่นำมาสอนในภาคบรรยาย การสาธิต ภาคปฏิบัติการ และการดูงานนอกสถานที่ (3.73-4.43) มีผู้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรมีการเพิ่มเวลาในภาคปฏิบัติการให้มากขึ้น หรือเพิ่มจำนวนวันในการอบรมให้มากขึ้น และมีผู้สนใจเกี่ยวกับการฝึกอบรมในเรื่องการทำสไลด์ถาวรเนื้อเยื่อแมลง สัตว์ เซลล์ สาหร่าย และจุลินทรีย์ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ และการจำแนกสิ่งมีชีวิตโดยใช้หลักการสกัดดีเอ็นเอ


ภาพที่1 วิธีการตัดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อพืชด้วย
Rotary Microtome (Sectioning)


ภาพที่ 2 การปิดแผ่นสไลด์ (Mounting)



ภาพที่ 3 สไลด์ถาวรเนื้อเยื่อพืชชนิดต่างๆ
ที่เตรียมด้วยวิธี Paraffin Method


ภาพที่ 4 สไลด์ถาวรอับละอองเรณูของ
ดอกมะม่วงที่เตรียมด้วยวิธี Paraffin Method


เฟื่องฟ้า จันทนิยม1  อรพรรณ ศังขจันทรานนท์ 2  คณพล จุฑามณี 2   และ พิมพ์ชนก สตภูมินทร์ 2
1งานวินิจฉัยและกักกันศัตรูพืช ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-3435-1399
2สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ สายวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 0-3428-1105-6