อโกลนีมา
(Aglaonema) จัดเป็นไม้ใบประดับที่มีอนาคตไกล มีความงดงาม
แปลกใหม่ และไม่ซ้ำกัน เป็นที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้า ทำให้มีราคาแพง
และได้รับความนิยมจากตลาดทั้งไทยและต่างประเทศมากจนได้รับสมญานามว่า
ราชาแห่งไม้ประดับ ตลาดหลักอยู่ที่อินโดนีเซีย อโกลนีมาสามารถวางประดับได้ทั้งในและนอก
อาคาร เช่น เขียวหมื่นปี เงินมาก ขันหมากราชา ใช้เป็นไม้มงคล ไม้หายาก
เช่น บัลลังค์ทอง บัลลังค์เพชร พูนทรัพย์ กวักทองคำ ศรีปราชญ์ หรือใช้ใบประกอบการจัดดอกไม้
เช่น โพธิ์สัตว์ก้านยาว เจ้าเมืองราช นอกจากนี้สามารถช่วยลดมลพิษภายในอาคาร
คือ ช่วยดูดก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์
การขยายพันธุ์อโกลนีมา สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ คือใช้เมล็ด ปกติเมล็ดของต้น อโกลนีมาที่ได้จากการผสมตัวเองจะมีลักษณะเหมือนต้นแม่
แต่ถ้ามีการผสมข้ามระหว่างสกุลสามารถสร้างลูกผสมใหม่ๆ เกิดขึ้น การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
เช่น การตอน การแยกหน่อ การชำ และ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การขยายพันธุ์ อโกลนีมาโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เป็นวิธีใหม่ที่ผู้ปลูกอโกลนีมาในเชิงการค้ามีความสนใจต้องการขยายพันธุ์ต้นในปริมาณมาก
ต้นมีความสม่ำเสมอ สามารถนำต้นอโกลนีมามาขยายพันธ์ได้ที่ งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กำแพงแสน
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีขั้นตอนดังนี้คือ
- คัดเลือกชนิดของเนื้อเยื่อที่เหมาะสม เช่น ข้อ
ตายอด ตาข้าง เพื่อนำมาฟอกฆ่าเชื้อเริ่มแรก
- การฟอกฆ่าเชื้อ ล้างชิ้นส่วนของตายอด ตาข้าง
ด้วยน้ำให้สะอาดฟอกด้วยน้ำยาคลอร็อกซ์ 10 % ประมาณ 15 นาที ล้างน้ำกลั่น
2 - 3 ครั้ง จากนั้นตัดชิ้นส่วนเลี้ยงในอาหารสูตรที่เหมาะสม
- สูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มปริมาณต้น สูตรอาหารที่ใช้คือ
MS และเติมฮอร์โมนในกลุ่ม cytokinin เช่น BA ความเข้มข้นประมาณ 2-5
มก/ล เพื่อชักนำให้เกิดต้นจำนวนมาก เลี้ยงในห้องควบคุมแสงประมาณ
2500 ลักซ์ และอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส
- การชักนำให้ออกราก นำต้นที่แข็งแรงชักนำให้ออกรากในสูตรอาหารMS
ที่เติม NAA หรือ IBA 1-2 มก/ล
- การย้ายปลูก เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะจะมีผลต่ออัตราการรอดชีวิต
ปกติใช้ปากคีบดึงเอาต้นพืชที่มีรากออกจากขวดโดยล้างวุ้นออกให้เกลี้ยง
จากนั้นนำไปปลูกในวัสดุปลูก (ทรายผสมขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1) คลุมถุงพลาสติกเพื่อรักษาความชื้นประมาณ
2 อาทิตย์ เก็บไว้ในที่ร่มอย่าให้ถูกแสงแดดโดยตรง เพราะจะทำให้ต้นสูญเสียน้ำไปทำให้ต้นเหี่ยว
เมื่อต้นพืชตั้งตัวได้แล้วปลูกลงดินหรือปลูกเลี้ยงในเรือนเพาะชำตามปกติ
ประโยชน์จากการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
สามารถเพิ่มปริมาณได้จำนวนมาก
ต้นที่ได้มีความแข็งแรง ต้นเจริญเติบโตสม่ำเสมอกัน สามารถกำหนดอายุการส่งตลาดได้เป็นรุ่น
|