การผลิตและใช้ประโยชน์กวาวเครือขาวทางด้านการเกษตร
Producing and Utilization of Kwao Krue Khaw in Agriculture

           กวาวเครือขาวเป็นพืชสมุนไพรที่มีลักษณะสำคัญคือ ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน (เอสโตรเจน) ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต เช่น กระตุ้นการกินอาหาร และเพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนในสัตว์ ช่วยยืดความยาวของยอดอ่อน และช่อดอกในพืช นอกจากนี้ยังเป็นสมุนไพรอายุวัฒนะ และเสริมความงามสำหรับมนุษย์อีกด้วย ปัจจุบันกวาวเครือขาวจัดเป็นสมุนไพรหนึ่งในสิบห้าอันดับที่อยู่ในแผนพัฒนาสมุนไพรของประเทศ และเป็น หนึ่งในสามชนิดที่ถูกพัฒนาให้เป็น product champion

          โครงการนี้เป็นชุดโครงการวิจัยแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นวิจัยเพื่อนำกวาวเครือขาวมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรอย่างแท้จริง ตั้งแต่ การคัดเลือก และขยายพันธุ์ ต่อยอดจากโครงการที่ได้ทำต่อเนื่องกันมาแล้วไม่น้อยกว่า5ปี สำหรับใช้ในด้านการเกษตรทั้งในพืช และสัตว์ เพื่อผลิตอาหาร ให้ผู้บริโภคปลอดภัย และผู้ผลิตมีกำไรจากการลดต้นทุนการผลิตลง โครงการที่ได้ทุนอุดหนุนวิจัยมีดังนี้

  1. การขยายพันธุ์ ปลูกและดูแลรักษากวาวเครือขาวพันธุ์ที่คัดเลือกแล้ว 3 สายต้น
  2. การพัฒนาการผลิตต้นพันธุ์กวาวเครือขาวด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
  3. กระบวนการทำกวาวเครือขาวผงแห้งจากน้ำคั้นหัวสด
  4. การวิจัยฤทธิ์ของกวาวเครือขาวต่อเทตาบอริซึมของไขมันที่ตับในไก่ไข่
  5. การใช้กวาวเครือขาวเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในปลาดุกลูกผสม
  6. การใช้กวาวเครือขาวในการเลี้ยงไหม
  7. การใช้ประโยชน์สารเร่งการเจริญเติบโตในกวาวเครือขาวต่อการผลิตพืช
  8. การต่อยอดเอกสารสิทธิบัตรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรกวาวเครือขาว

          การดำเนินงานของแต่ละโครงการในเวลา 11 เดือนที่ผ่านมาสำเร็จ และเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเฉลี่ยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของงานทั้งหมด ผลการศึกษาที่ผ่านมาพอสรุปได้ดังนี้

โครงการที่1. การขยายพันธุ์ ปลูกและดูแลรักษากวาวเครือขาวพันธุ์ที่คัดเลือกแล้ว

คัดเลือกและขยายพันธุ์กวาวเครือขาวได้ 11 สายต้น ด้วยวิธีการแบ่งหัวต่อต้น(ไม่ใช้เพศ) โดยมีหมายเลข ลักษณะการให้ผลผลิต และจำนวนต้นที่ขยายพันธุ์ดังนี้

1. SARDI 190 ลักษณะให้ผลผลิตสูงมาก ออกดอกน้อยมาก และไม่ติดฝัก ขยายพันธุ์ได้ 9 ต้น
2. SARDI 1 ลักษณะให้ผลผลิตสูง ออกดอกน้อย และติดฝักน้อยมาก ขยายพันธุ์ได้ 81 ต้น
3. SARDI 5 ลักษณะให้ผลผลิตปานกลาง ออกดอกมาก และติดฝักปานกลาง ขยายพันธุ์ได้ 12 ต้น
4. SARDI 7 ลักษณะให้ผลผลิตปานกลาง ออกดอกมาก และติดฝักปานกลาง ขยายพันธุ์ได้ 44 ต้น
5. SARDI 8 ลักษณะให้ผลผลิตปานกลาง ออกดอกมาก และติดฝักปานกลาง ขยายพันธุ์ได้ 65 ต้น
6. SARDI 10 ลักษณะให้ผลผลิตต่ำ ออกดอกมากที่สุด และติดฝักมากที่สุด ขยายพันธุ์ได้ 8 ต้น
7. SARDI 11 ลักษณะให้ผลผลิตปานกลาง ออกดอกมาก และติดฝักมาก ขยายพันธุ์ได้ 13 ต้น
8. SARDI 12 ลักษณะให้ผลผลิตปานกลาง ออกดอกมาก และติดฝักมาก ขยายพันธุ์ได้ 9 ต้น
9. SARDI 13 ลักษณะให้ผลผลิตปานกลาง ออกดอกมาก และติดฝักมาก ขยายพันธุ์ได้ 36 ต้น
10. SARDI 14 ลักษณะให้ผลผลิตปานกลาง ออกดอกมาก และติดฝักมาก ขยายพันธุ์ได้ 16 ต้น
11. SARDI 15 ลักษณะให้ผลผลิตปานกลาง ออกดอกมาก และติดฝักมาก ขยายพันธุ์ได้ 35 ต้น

รวมขยายพันธุ์ ปลูก ดูแลกวาวเครือขาวที่คัดเลือกแล้วทั้งหมด 328 ต้น

โครงการที่ 2. การพัฒนาการผลิตต้นพันธุ์กวาวเครือขาวด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
               ปัจจุบันสามารถหากระบวนการเลี้ยงเนื้อเยื่อและเจริญเป็นต้นกวาวเครือขาวในขวด และอาหารได้แล้วพร้อมที่จะชักนำให้เกิดราก และขยายจำนวนให้มากขึ้นแบบทวีคูณในปีถัดไป
โครงการที่ 3. กระบวนการทำกวาวเครือขาวผงแห้งจากน้ำคั้นหัวสด
               พบว่าสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ในส่วนของเปลือก และเส้นใยเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของน้ำมีน้อยมากเมื่อเทียบโดยน้ำหนัก ดังนั้นการคั้นน้ำออกก่อนนำไปผ่านกระบวนการอบแห้งจึงเป็นวิธีการที่น่าสนใจที่จะนำไปศึกษาเพื่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรม

โครงการที่ 4. การวิจัยฤทธิ์ของกวาวเครือขาวต่อเทตาบอริซึมของไขมันที่ตับในไก่ไข่
               กวาวเครือขาวในระดับต่ำที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ยังให้ผลไม่ชัดเจนในการลดการสะสมไขมันในตับของแม่ไก่ไข่ แต่มีผลทำให้ไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดลดลง

โครงการที่ 5. การใช้กวาวเครือขาวเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในปลาดุกลูกผสม
               การใช้ผงกวาวเครือขาวผสมอาหารปลาดุกลูกผสมในระดับ 800 พีพีเอ็ม ทำให้มีการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารดีขึ้น

โครงการที่ 6. การใช้กวาวเครือขาวในการเลี้ยงไหม
               การให้กวาวเครือขาวแก่หนอนไหมในระดับ 0 % ,3% และ 5% ของน้ำหนักใบหม่อนที่ให้แต่ละมื้อพบว่าน้ำหนักหนอนไหมเฉลี่ย 10 ตัว ไม่แตกต่างกันทางสถิติ และเมื่อเพิ่มผงกวาวเครือที่ให้ในระดับ 10 % พบว่าหนอนไหมมีการเจริญเติบโตต่ำลง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อปริมาณเส้นใย โดยเมื่อให้ผงกวาวเครือในระดับที่สูงขึ้น รังไหมจะมีเปอร์เซนต์เส้นใยเริ่มน้อยลง เมื่อศึกษาผลของกวาวเครือที่ให้ต่อการสร้างไข่พบว่าการใช้ผงกวาวเครือในระดับ 5 % ของน้ำหนักใบหม่อนที่ให้ในแต่ละมื้อ โดยให้ในระยะวัย4-วัย 5 จะทำให้แม่ผีเสื้อสร้างไข่ได้มากที่สุด

โครงการที่ 7. การใช้ประโยชน์สารเร่งการเจริญเติบโตในกวาวเครือขาวต่อการผลิตพืช
               พบว่าสารสกัดหยาบจากกวาวเครือขาวให้ผลคล้ายฮอร์โมนในกลุ่มเร่งการเจริญเติบโตในพืชบางชนิด และมีโอกาสในการพัฒนาเพื่อใช้ทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์ได้ ซึ่งต้องศึกษาต่อไป

โครงการที่ 8. การต่อยอดเอกสารสิทธิบัตรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรกวาวเครือขาว
               พบการจดสิทธิบัตรเพื่อดำรงไว้ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 20 รายการทั่วโลก (ยกเว้นประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันได้นำองค์ความรู้มาต่อยอดในการค้นหาวิธีการสกัดสาระสำคัญมาใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวได้แล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทย




 

สมโภชน์ ทับเจริญ1, ยุพา มงคลสุข2, เชาว์ อินทร์ประสิทธิ์3, ชนินทร์ ติรวัฒนวานิช4, อรพิน จินตสถาพร5, อุไรวรรณ นิลเพ็ชร์6
ภาณี ทองพำนัก7 และ ปราโมทย์ ธรรมรัตน์8
1ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ 2สถาบันผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
3
ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน 4ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ 5ศูนย์เทคโนโลยีอาหารสัตว์น้ำ คณะประมง
6
ภาควิชากีฎวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน 7ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน
8
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร