หม่อน-ไหม: เทิดไท้องค์ราชัน
Mulbery-Silkworm: On the Honor of the King

“ความเจริญของประเทศ ต้องอาศัยความเจริญของภาคเกษตรเป็นสำคัญ”

                  พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความสำคัญของภาคการเกษตรที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย

                  เกษตรกรรมเป็นอาชีพพื้นฐานของคนในสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย ประชากรประมาณสองในสามอยู่ในภาคเกษตร การพัฒนาการเกษตรเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาประเทศมาตลอด สาขาการเกษตรเป็นสาขาที่ได้รับความสำคัญอย่างสูงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ

                  แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือ การที่ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา ฯลฯ ทั้งพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา ฯลฯ และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ราคาถูก ใช้เทคโนโลยีที่ง่าย และไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้และที่สำคัญ คือ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้น จะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

                 ไหมได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งเส้นใย” เส้นไยไหมที่นำมาใช้ทอผ้ามีคุณสมบัติยืดหยุ่น เป็นเงาวาว ดูดซับน้ำได้ดี ระบายความชื้นได้ดี และดูดซับความร้อนได้ดีกว่าผ้าฝ้าย นอกจากนี้สารสกัดจากหม่อนและไหม ยังมีประโยชน์อื่นๆ ในด้านเครื่องสำอาง ทางการแพทย์ ผ้าไหมไทยมีสีสันและลวดลายอันงดงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมของชาวไทย ไหมไทยจึงโดดเด่นและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

งานวิจัยด้านหม่อน


                 กลุ่มวิจัยชีวเคมีเทคโนโลยีหม่อนไหม (Biochemical Technology of Mulberry and Silkworm Research Group, BTMS) ได้สกัดสารจากหม่อนแล้วศึกษาคุณสมบัติในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ พบว่ามีฤทธิ์ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ ต้านไวรัสและมีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ของแบคทีเรีย เป็นต้น
คณะผู้วิจัยได้สกัดและศึกษาคุณสมบัติของเลคตินจากใบหม่อน พบว่ามีฤทธิ์ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas syringae pv. mori ซึ่งก่อโรคใบไหม้ในหม่อน นอกจากนี้ยังได้โคลนยีนเลคตินจากหม่อน และได้ทำการศึกษาโครงสร้างสามมิติของเลคติน ซึ่งจะนำไปใช้ในการสังเคราะห์เลคตินเพื่อให้ได้ปริมาณสูงๆ แทนการสกัดซึ่งจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

งานวิจัยด้านไหม


                 รังไหมประกอบด้วยโปรตีนไฟโบรอิน 70-80% และโปรตีนเซอริซิน 20-30% ซึ่งไฟโบรอิน 2 สายถูกหุ้มด้วยกาวเซอริซินซึ่งจะถูกกำจัดทิ้งในกระบวนการลอกกาวไหม ผงไหมจึงมี 2 ชนิดคือผงไหมเซอริซิน และผงไหมไฟโบรอิน ผงไหมช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น มีสารทำให้หน้าขาว มีคุณสมบัติลดน้ำตาลและโคเลสเตอรอลในเลือด จึงใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง

                  ปัจจุบันมีการนำไฟโบรอินมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง ทั้งในรูปของเหลวและผง โดยเครื่องสำอางที่เป็นน้ำก็จะใช้สารสกัดในรูปของเหลวผสม เครื่องสำอางที่อยู่ในรูปผงก็ใช้สารสกัดที่เป็นผง ซึ่งไฟโบรอินเป็นสารธรรมชาติ จึงไม่มีการระคายเคืองผิว และยังรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวได้ดีด้วย

                  กลุ่มวิจัยฯ ได้ทำการลอกกาวเซอริซินด้วยเอนไซม์ปาเปนจากยางมะละกอ เอนไซม์โบรมิเลนจากสัปรด เอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และคัดเลือกเอนไซม์จากจุลินทรีย์จากธรรมชาติ เพื่อทำการลอกกาวออกจากเส้นไหมให้เหมาะสมกับการทอผ้า นอกจากนี้ยังได้เซอริซินมีขนาดที่แน่นอน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งทางการแพทย์และเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางอีกด้วย

                  คณะผู้วิจัยได้ทำการสร้างไหมดัดแปลงพันธุกรรม (Transgenic silkworm) เพื่อใช้เป็นโรงงานผลิตโปรตีนที่มีมูลค่าสูง เช่นผลิตโปรตีน HIV-1 envelope glycoproteins และเพื่อสร้างไหมข้ามพันธุ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป เช่นไหมต้านทานโรคต่างๆ

รูปที่ 2 ไหมดัดแปลงพันธุกรรมที่มี DsRed (รูปซ้าย) GFP (รูปขวา) เป็นยีนรายงานผล (reporter gene) จะมีการแสดงออกที่ตาของไหมที่โตเต็มวัย (moth) สำหรับยีน DsRed สามารถมองเห็นสีแดงด้วยตาเปล่า ในขณะที่ GFP จะต้องมองภายใต้แสงอัลตราไวโอเล็ต

 

อมรรัตน์ พรหมบุญ1, สุนันทา รัตนาโภ1, เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล1,วรรณรัตน์ พรศิริวงศ์1, สุลักษม์ ตาฬวัฒน์1, ทิพย์มนต์ ภัทราคร2, เลิศลักษณ์ เงินศิริ3, ปทุมพร ฉิมเอนก1, ร.อ. ชัยวัฒน์ กิตติกูล4, อนงค์นาฏ ศรีวิหค5, ณัฐกานต์ นิตยพัธน์1, สุธาวดี จิตประเสริฐ6, สร้อยสุดา ณ ระนอง1, พรศิริ ม่วงสมัย7, อารีรัตน์ ปิ่นทอง7, ศจี สุวรรณศรี8, และสุพิชฌา สุพรรณสมบูรณ์ 9
1กลุ่มปฏิบัติการชีวเคมีเทคโนโลยีหม่อนไหม ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 3ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 4ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 5ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 6ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 7ภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 8ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และ 9ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โทรศัพท์ 02-562-5444, 02-562-5555 ต่อ 2018, 2020 โทรสาร 02-561-4627; e-mail: fscisnr@ku.ac.th,
fsciarp@ku.ac.th, http://biochem.sci.ku.ac.th/silk/