การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรขมิ้นชันแบบครบวงจรเพื่อสู่อุตสาหกรรม
Research and Development of Curcuma longa for industrial.

           ถึงแม้จะมีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับขมิ้นชัน แต่ก็ยังขาดการวิจัยทางด้านการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อสู่อุตสาหกรรมในเมืองไทยดังนั้นคณะผู้วิจัยของม. เกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายสาขาตั้งแต่ เกษตร ประมง วิทยาศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร จึงมีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาขมิ้นชัน ตั้งแต่การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของขมิ้นชัน เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีที่มีสารออกฤทธิ์ และได้ศึกษาการปลูกขมิ้นชันแซมกับพืชอื่นๆ เช่น ยางพารา ข้าวโพด ส้มโชกุน เป็นต้น หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาการสกัดขมิ้นชันในระดับที่พัฒนาสู่อุตสาหกรรม เพื่อให้ได้สารเคอร์คูมินอยด์ในปริมาณสูง โดยแตกต่างจากที่มีรายงานไว้ และต้นทุนต่ำซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากสารเคอร์คูมินอยด์มีสีเหลืองส้มเมื่อนำไปผสมในเครื่องสำอางเป็นครีมทาหน้าจึงมีปัญหาในการที่เกิดสีจางลงและถ้าใช้มากไปสีจะติดผิวหนังเกินความจำเป็น ดังนั้นการเปลี่ยนสารเคอร์คูมินอยด์ไปเป็นสารเตระไฮโดรเคอร์คูมินอยด์( สีขาว) โดยใช้ตัวเร่งที่ปลอดภัย และพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม ดังนั้นการเปลี่ยนสารเคอร์คูมินอยด์ไปเป็นสารเตตระไฮโดรเคอร์คูมินอยด์ ( ทีเอชซี) ที่ใช้ตัวเร่งที่ปลอดภัย และพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้จึงมีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันสารทีเอชซี (THC) นี้นิยมนำไปใช้ผสมในเครื่องสำอางโดยเฉพาะครีมหน้าเด้งนั้น ได้นำเข้าจากต่างประเทศ ทีเอชซีคุณสมบัติที่ดีกว่าเคอร์คูมินอยด์ ในการแก้อักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ จับแสง UV และช่วยยับยั้งหรือป้องกันกระ ฝ้า ได้ สำหรับใช้สารสกัดขมิ้นชันและน้ำมันขมิ้นชัน ยังนิยมมาพัฒนาใส่ลงในสบู่ถูตัว สบู่ล้างมือ และการทำโลชั่นไล่ยุง

           สารสกัดขมิ้นชันยังมีความสำคัญในการที่จะนำไปพัฒนาเพื่อใช้ในเกษตรกรรมการเลี้ยงกุ้ง ไก่ ปลา ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาถึงการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา บางชนิด ที่เป็นบ่อเกิดของโรค ในสัตว์เหล่านี้ ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า สารสกัดขมิ้นชันและน้ำมันขมิ้นชันสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ที่ก่อโรคในปลา และยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในกุ้งกุลาดำ แต่ต้องใช้ปริมาณสูงและพบว่าสารสกัดขมิ้นชันผสมอาหารเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพิ่มภูมิต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ระบบภูมิคุ้มกัน และการควบคุมปริมาณเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ในการศึกษาครั้งนี้เป็นแนวทางที่จะพัฒนาในการใช้สารสกัดและน้ำมันจากขมิ้นชัน เพื่อใช้ในการรักษาและป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียและเชื้อราที่ก่อโรคในปลา กุ้ง รวมถึงสัตว์น้ำอื่นๆต่อไป

           นอกจากนี้ยังใช้สารสกัดขมิ้นชันผสมในอาหารที่เลี้ยงปลาทอง พบว่าปลาทองมีการเจริญเติบโต อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ และประสิทธิภาพการใช้อาหารดีขึ้น การทำงานของเอนไซม์ย่อยโปรตีน และเอนไซม์ย่อยไขมันดีกว่าปลาทองในกลุ่มอื่นๆ และเมื่อใช้เคอร์คูมินอยด์ผสมในอาหารที่เลี้ยงปลาทองจะมีผลต่อการเพิ่มความเข้มสีเหลือง

           อาหารประเภทน้ำพริกสำเร็จรูปมีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่จะเก็บทนนานปกติ จะต้องใส่สารประเภท กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิค เพื่อกันเสียและสารพวก บีเอชเอ และบีเอชที เพื่อกันหืน ซึ่งเมื่อรับประทานสม่ำเสมอ อาจจะทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งได้ คณะผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการใช้น้ำมันหอมระเหยมาช่วยป้องกันการเหม็นหืนและกันเสีย โดยไม่ต้องใส่สารกันหืนและกันเสีย

           อาหารอื่นๆที่นิยมรับประทานกันเช่น หมูสะเต๊ะ แกงเหลืองฟัก น้ำยาปักษ์ใต้ ปลาทอด คั่วกลิ้งไก่ และข้าวเหนียวมูล ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษา โดยใช้ขมิ้นชันใส่ลงไปในอาหารเหล่านี้ โดยมีการผ่านขบวนการปรุงอาหารด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งปกติต้องใช้ความร้อน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการวิจัยเพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติการออกฤทธิ์ของขมิ้นชันในการต้านอนุมูลอิสระ และต้านการก่อกลายพันธุ์ว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

           กากขมิ้นชันเป็นส่วนที่เหลือจากการสกัดในปริมาณประมาณ 80% ดังนั้นการนำกากขมิ้นชันไปพัฒนาประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์จึงมีความจำเป็นในการศึกษา โดยคณะผู้วิจัยพบว่าการนำกากขมิ้นชันในปริมาณ 4 และ 8 เปอร์เซ็นต์ผสมในอาหารสุกร ทำให้สุกรมีการเจริญเติบโตเร็ว และผู้เลี้ยงมีกำไรจากการเลี้องสุกรมากกว่ากลุ่มควบคุม ในขณะที่ การใช้กากขมิ้นชันผสมในอาหารของไก่ไข่ สามารถใช้ได้ในระดับ 4-8 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีผลใกล้เคียงกับการใช้รำสกัดน้ำมัน โดยไม่มีความแตกต่างในการผลิต และคุณภาพการผลิตไข่ซึ่งทำให้ได้ใช้ส่วนที่เหลือของขมิ้นชันให้เป็นประโยชน์ และพบว่าสีของไข่แดงของกลุ่มที่ผสมกากขมิ้นชันในอาหารมีระดับความพึงพอใจสูงกว่า กลุ่มที่ไม่ใช้กากขมิ้นชัน

           การใช้กากขมิ้นชันผสมในอาหารปลาดุกลูกผสมมีผลทำให้การเติบโตใกล้เคียงกับการใช้อาหารสูตรทั่วไป แต่มีผลทำให้ต้นทุนค่าอาหารต่ำลง นอกจากนั้นกากขมิ้นชันทำให้ปลาดุกมีสีแดงและสีเหลืองเข้มขึ้น

           จากผลการวิจัยขมิ้นชันแบบครบวงจรของม. เกษตรศาสตร์นี้ จึงทำให้มีความหวังว่าในอนาคต อุตสาหกรรมขมิ้นชันในเมืองไทยจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เพิ่มมูลค่าของขมิ้นชัน เพิ่มรายได้เกษตรกร ลดต้นทุนอาหารสัตว์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น


เหง้าขมิ้นชัน


น้ำมันขมิ้นชัน
จากกลั่นด้วยไอน้ำ

น้ำมันขมิ้นชัน
จากการสกัดด้วยเฮกเซน



สารสกัดขมิ้นชัน



กากขมิ้นชัน



สุกรที่ได้รับอาหารผสมกากขมิ้นชัน



ไก่ที่ได้รับอาหารผสมกากขมิ้นชัน



หัวหน้าชุดโครงการ : งามผ่อง คงคาทิพย์

หัวหน้าโครงการย่อย : บุญส่ง คงคาทิพย์   นิภา เขื่อนควบ   ปารียา อุดมกุศลศรี   สุชาติ สงวนพันธุ์   นนทวิทย์ อารีย์ชน   สมโภชน์ ทับเจริญ
อรพินท์ จินตสถาพร   ประทักษ์ ตาบทิพย์วรรณ   หทัยรัตน์ ริมคีรี    จันทร์เพ็ญ แสงประกาย   รุ่งนภา พงศ์สวัสดิ์มานิต    ลัดดา วัฒนศิริธรรม
วิเชียร กีรตินิจกาล    และ องอาจ เลาหวินิจ

ผู้ร่วมวิจัย : สุริยัน สุทธิประภา   ภรภัทร สำอางค์  คมสัณห์ อิ่มพันธุ์แบน   สุดประสงค์ สุวรรณเลิศ   ระวิวรรณ โชติพันธ์   ลลิตา น้ำเพ็ชร   เจษฎายุทธ ไชยบุรี   จิตตรา สิ้นภัย  สุมาลี บุญมา   กมลชัย ตรงวานิชนาม   สันติ แก้วโมกุล  นภสร กู้สุจริต  อรประพันธ์ ส่งเสริม   อรทัย ไตรวุฒานนท์   อรรถวุฒิ พลายบุญ   ประพันธ์ศักดิ์ศรีษะภูมิ   วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล   ศรีสุวรรณ ชมชัย   เกรียงศักดิ์ สะอาดรักษ์   ชฎา พิศาลพงศ์   วิมลมาศ ดิลกวิลาศ   เสาวลักษณ์ ผ่องลำเจียก   วลัยรัตน์ จันทรปานนท์   อภิญญา จุฑางกูร   จันทร์สุดา จริยวัฒนวิจิตร   สิริพร สธนเสาวภาคย์   สุมิตรา บุญบำรุง   โสภิดา ชิดชื่นเชย   อารีย์รัตน์ ขุนภิบาล   นันทวรรณ ฉิมพลี   แสงชัย ยิ่งศักดิ์มงคล   ปรมา หันหาบุญ   ณรงค์ อาบกิ่ง  และ สุภาพร อิสริโยดม

หน่วยงาน
1. หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. ภาควิชาเภสัชวิทยา, ภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน, ภาควิชาสรีรวิทยา, ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์
    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4. ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5. ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
6. ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
7. ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8. ฝ่ายโภชนาการและสุขภาพ, ฝ่ายเคมีและกายภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
9. ศูนย์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
10. ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร 02-5625444 หรือ 02-5625555 ต่อ 2139