“การสื่อสารเพื่อพัฒนาการเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”
Agricultural Development Communication for the New Theory of King Bhumipol Adulyadej

           งานวิจัย “การสื่อสารเพื่อพัฒนาการเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาองค์ประกอบในกระบวนการสื่อสารของเกษตรกรทฤษฎีใหม่ในประเด็นเรื่องการเปิดรับข่าวสาร การแสวงหาข่าวสาร การวิเคราะห์เนื้อหาสื่อ การรับรู้ การตีความและการเข้าใจความหมายของเกษตร “ทฤษฎีใหม่” เครือข่ายและรูปแบบการสื่อสารของเกษตรกรและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ไปปฏิบัติ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของกระบวนการสื่อสารและปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการยอมรับของเกษตรกร โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของกลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ของศูนย์การพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. เพชรบุรี เกษตรกรในเครือข่ายศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามฯ จ. ชลบุรี และเกษตรกรในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของหน่วยงานเกษตรและสหกรณ์ จ. เพชรบุรี และจ. ชลบุรี ผลการศึกษาพบว่าในบริบทของสังคมไทยอันเนื่องมาจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นผู้สื่อสารที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุด ทำให้มีกระบวนการการสื่อสารเพื่อการยอมรับทฤษฎีใหม่มี 3 ขั้นตอนที่สำคัญคือ 1 ขั้นการรับรู้ โน้มน้าวใจและยอมรับ 2 ขั้นลงมือปฏิบัติและแสวงหาความรู้ 3 ขั้นยืนยัน โดยสื่อที่เข้ามามีบทบาทในขั้นที่ 1 มากที่สุด คือ สื่อมวลชน และสื่อบุคคล โดยสื่อมวลชนที่เกษตรกรมีการเปิดรับมากที่สุดคือโทรทัศน์ และสื่อบุคคลที่มีบทบาทในการแสวงหาข่าวสารของเกษตรกร คือ เกษตรตำบล เจ้าหน้าที่โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่วนในขั้นที่ 2 สื่อที่มีบทบาทมากที่สุด คือ สื่อเฉพาะกิจอันได้แก่ การอบรม และเครือข่ายการสื่อสาร สื่อบุคคลยังมีบทบาทต่อการยอมรับของเกษตรกรอยู่ด้วย ส่วนในขั้นตอนที่ 3 เครือข่ายการสื่อสาร ยังมีบทบาทมากที่สุดอยู่เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรยืนยันการยอมรับเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อไป จากนั้นยังพบทิศทางและขั้นตอนการไหลของข่าวสารเกษตรทฤษฎีใหม่ว่าประกอบด้วย 5 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ เริ่มจากขั้นตอนที่ 1 องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีกระแสพระราชดำรัส ในขั้นที่ 2 สู่ผู้รับสนองพระราชดำรัส ในขั้นตอนที่ 3 คือ ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาปรับเป็นนโยบายระดับประเทศ ขั้นที่ 4 มอบหมายให้ถึงเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร หรือเจ้าหน้าที่ศูนย์ไปปฏิบัติในพื้นที่ ในขั้นสุดท้าย คือเกษตรกร โดยที่ผู้นำความคิดมีผลต่อการรับรู้ การตีความและการเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกร ส่วนปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสื่อสาร และส่งผลต่อการยอมรับแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของเกษตรกรนั้นมีด้วยกันหลายปัจจัย สามารถเรียงลำดับปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุดตามลำดับดังนี้ 1.ปัจจัยด้านหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน 2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ 3. ปัจจัยด้านปัจเจกบุคคล 4. ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และผลผลิตในท้องถิ่น 5. ปัจจัยด้านสังคมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยแต่ละปัจจัยส่งผลในขั้นตอนการยอมรับเกษตรทฤษฎีใหม่ทั้งสามขั้นตอนแตกต่างกันไป

 

พรทิพย์ เย็นจะบก
ภาควิชาศิลปนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์
โทร. 089-5157-525