เศรษฐกิจพอเพียง
The Sufficiency Economy


เศรษฐกิจพอเพียง

          แนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” จุดเริ่มต้นของการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ความว่า “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขึ้นสูงโดยลำดับต่อไป...”
          นับจากพระบรมราโชวาทในวันนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” จนกระทั่งวันนี้เป็นเวลากว่า 31 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสและพระราชดำริ ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกร ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์อันเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่เน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งอัญเชิญมาบางตอนต่อไปนี้ “การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามี เศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตนเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้นักเศรษฐกิจต่างๆก็มาบอกว่าล้าสมัย จริงอาจจะล้าสมัยคนอื่นเขาต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียกว่า เป็นเศรษฐกิจการค้าไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้”

          เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตนเอง อยู่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อน โดยต้องสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน ตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ไม่ใช่จะมุ่งหวังแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกฐานะทางเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียวเพราะผู้ที่มาอาชีพและฐานะเพียงที่จะพึ่งตนเองย่อมสามารถสร้างความ
เจริญก้าวหน้า และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับแต่ไปได้

เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรกร
         ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสังคม คือ จะต้องช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในภาคเกษตรและที่กลับคืนสู่ภาคเกษตรมีงานทำ มีรายได้ ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างรากฐานของชนบทให้แข็งแรงพอที่จะสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
แนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับภาคเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “ทฤษฎีใหม่” 3 ขั้นคือ
          ขั้นที่หนึ่ง มีความพอเพียงเลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดขจัดการใช้จ่าย
          ขั้นที่สอง รวมพลังกันในรูปกลุ่ม เพื่อทำการผลิต การตลาด การจัดการรวมทั้งด้านสวัสดิการ การศึกษา การพัฒนาสังคม
          ขั้นที่สาม สร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพและขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หลากหลาย โดยประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจภาคองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคราชการในด้านเงินทุนการตลาด การผลิต การจัดการ และข่าวสารข้อมูล โดยมีนัยสำคัญ คือ
1.ให้ประชาชนพออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพตามหลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง”
2.ในหน้าที่มีน้ำน้อยก็สามารถเอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกผักต่างๆที่ใช้น้ำน้อยได้โดยไม่ต้องเบียดเบียนของชลประทาน
3.ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลโดยมีน้ำดีตลอดปี ทฤษฎีใหม่นี้ก็สามารถสร้างรายได้ให้ร่ำรวยขึ้นได้
4.ในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัวและช่วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง

เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับผู้ที่อยู่นอกภาคการเกษตร
          สำหรับคนอยู่นอกภาคเกษตรกรนั้นเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา เป็นแนวปฏิบัติตนไม่ว่าจะอยู่ในกิจกรรมหรืออาชีพใด ก็ต้องยึดวิถีชีวิตไทยอยู่แต่พอดี ยึดเส้นทางสายกลางอยู่กินตามฐานะ
อย่าใช้หลักการลงทุนเชิงการพนันซึ่งตั้งอยู่บนความเสี่ยง ใช้สติปัญญาในการปกป้องตนเองไม่ให้หลงกระแสโลกาภิวัฒน์

การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง

  1. ยึดความประหยัด
  2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องสุจริต
  3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันทางการค้าขาย
  4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก
  5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่วให้หมดสิ้นไป

         เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเหมือนรากฐานของชีวิตรากฐานความมั่นคงของแผ่นดินเปรียบ เสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป









นิสิตบัณฑิตสาขาส่งเสริมการเกษตร ชั้นปีที่ 1 สโมสรนิสิตสาขาส่งเสริมการเกษตร
คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-1025