การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการผลิต การแปรรูปและการค้าข้าวของประเทศไทยนับเป็นยุทธศาสตร์
หนึ่งของการวิจัยของประเทศที่สนองตอบนโยบายในการพัฒนาประเทศ ประกอบกับข้าวเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญของไทย
เป็นผลผลิตหลักทางการเกษตรโดยเฉพาะภาคกลางตอนบน ซึ่งมีความต้องการแนวทางการทำวิจัยในการแปรรูปข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว
ด้วยเหตุนี้งานวิจัยจึงมีเป้าหมายหลักในการนำข้าวมาเป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
โดยวัตถุดิบอื่นที่นำมาใช้ร่วมกับข้าวเน้นสมุนไพรไทยหรือใบหม่อน เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในแง่ของผลิตภัณฑ์สุขภาพ
เนื่องจากกระแสความใส่ใจและตื่นตัวต่อการรักษาสุขภาพของประชากรทั่วโลก
ประกอบกับใบหม่อนเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เด่นของสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณทางการแพทย์มากมาย
ประกอบไปด้วยสาร Polyphenol ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีสาร DNJ-Deoxynojirimycin
ที่มีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด มีสาร GABA-Gamma amino butyric
acid ที่มีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต และสาร Phytosterol ที่มีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอล
นอกจากนั้นยังพบว่าใบหม่อนมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น
โปรตีน ใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบ
ทุกชนิด รวมทั้งการนำใบหม่อนไปใช้ประโยชน์ด้านเภสัชกรรม เมื่อนำไปวิเคราะห์สารสำคัญพบว่าใบหม่อนมี
Quercetin และ Kaempferol ซึ่งเป็นสารกลุ่ม Flavonoids ที่มีคุณสมบัติป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก
ทำให้กระแสโลหิตหมุนเวียนดี และหลอดเลือดแข็งแรงตลอดจนลดอาการแพ้ต่าง
ๆ สำหรับกระบวนการผลิตอาหารขบเคี้ยวที่ใช้ในงานวิจัยนี้เลือกใช้กระบวนการเอกซ์ทรูชัน
เนื่องจากขนมขบเคี้ยวประเภทขึ้นรูป (Extruded snack) มีส่วนแบ่งของตลาดสูงกว่าอาหารขบเคี้ยว
กลุ่มอื่น ๆ ทั้งนี้ด้วยความสามารถของระบบ ที่ผลิตได้ในปริมาณมาก มีประสิทธิภาพ
ประหยัดต้นทุนการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพดีมีเนื้อสัมผัสกรอบพอง
เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยว นอกจากนั้นยังเป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ดัดแปลงและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย
ทั้งรูปลักษณ์และเนื้อสัมผัสมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวต่อการเลือกใช้สภาวะการผลิต
รวมทั้งคุณลักษณะของวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสม ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยวในระบบเอกซ์ทรูชันจากงานวิจัยนี้
จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วขยายผลต่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรมได้ทันที
ความมุ่งหมายของการวิจัย
- เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยวจากกระบวนการเอกซ์ทรูชัน โดยใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก
และเสริมฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระรวมทั้งสารอาหารอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพด้วยใบหม่อน
โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีศักยภาพต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม
- เพื่อศึกษาสภาวะการผลิตและวิธีการแปรรูปใบหม่อนที่เหมาะสมในขั้นตอนของการเอกซ์ทรูชัน
เพื่อผลิตเป็นอาหารขบเคี้ยวจากข้าวผสมใบหม่อน
- เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของผลิตอาหารขบเคี้ยวผสมใบหม่อนในเชิงพาณิชย์
โดยทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค วิเคราะห์ฉลากโภชนาการ คุณภาพทางจุลินทรีย์และการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในช่วงการเก็บรักษา
รวมทั้งวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต
อุปกรณ์
: เครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์ชนิดสกรูคู่ (Hermann Berstroff Laboratory
Co-rotating Twin Screw Extruder ZE25?33D)
วิธีดำเนินงานวิจัย
ศึกษาการเตรียมใบหม่อนที่เหมาะสมต่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยว
ศึกษาสภาวะการผลิตที่เหมาะสมของการผลิตอาหารขบเคี้ยวผสมใบหม่อน
ทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค
ประเมินคุณภาพทางโภชนาการ
ตรวจสอบคุณภาพทางจุลินทรีย์
ติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในช่วงการเก็บรักษา
ภาพที่ 1 แผนภูมิการผลิตผงหม่อนแห้ง
ภาพที่ 2 แผนภูมิการผลิตผลิตภัณฑ์สแนคใบหม่อน
ผลการวิจัย
วิธีการเตรียมใบหม่อนที่เหมาะสมต่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยว
ควรใช้ในรูปผงหม่อน เนื่องจากการใช้ในรูปน้ำสกัดใบหม่อนมีข้อจำกัดต่อการ
Operate เครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์
สภาวะการผลิตอาหารขบเคี้ยวผสมใบหม่อนที่เหมาะสมประกอบด้วยปริมาณผงหม่อนร้อยละ
5 ความเร็วรอบของ สกรู 300 รอบต่อนาที และความชื้นของวัตถุดิบขณะป้อนร้อยละ
15 โดยที่สภาวะการผลิตดังกล่าวให้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะปรากฏที่ดี มีความพองเหมาะสม
เนื้อสัมผัสมีความกรอบพอเหมาะ สีและกลิ่นรสเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
และในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ยังคงมีปริมาณฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสารฟินอลิค
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค มีคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
(30 กรัม) ในด้านสุขภาพดีกว่าผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยวขึ้นในท้องตลาด
สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานอาหารว่างที่แนะนำโดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสถาบันวิจัยโภชนาการ
มีสารต้านอนุมูลอิสระและสารฟินอลิค และจากการตรวจสอบคุณภาพทาง จุลินทรีย์
ผลิตภัณฑ์นี้ได้มาตรฐานและถูกสุขลักษณะ ตลอดจนสามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ในถุงเมทัลไลซ์ที่อุณหภูมิห้องได้เป็นเวลา
4 เดือน โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง สี กลิ่น รส เนื้อสัมผัส ที่ผิดปกติหรือด้อยคุณภาพ
และผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค นอกจากนั้นประมาณการต้นทุนการผลิตของผลิตภัณฑ์มีความเป็นไปได้ต่อการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
ผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยวผสมใบหม่อนนี้มีศักยภาพต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการและขยายผลการผลิตในระดับอุตสาหกรรม
สร้างมูลค่าเพิ่มทางโภชนาการแก่ผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยวให้เป็นประโยชน์ในเชิงสุขภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะ ใยอาหารฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสารฟินอลิค อย่างไรก็ตามการเพิ่มปริมาณฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากใบหม่อนในผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดที่หากใช้ใบหม่อนในปริมาณสูง
ปริมาณใยอาหารจะยับยั้งการพองของผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้ลักษณะปรากฏ ที่ไม่ดี
ดังนั้น หากดำเนินการสกัดสารสำคัญจากใบหม่อน และแปรรูปให้อยู่ในลักษณะที่ผสมกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารขบเคี้ยวได้ง่าย
โดยไม่มีสารเคมีตกค้าง และกระทบต่อขั้นตอนการผลิตรวมทั้งต้นทุนการผลิตมากนักก็จะเป็นผลดียิ่งขึ้นต่อผลิตภัณฑ์
|