การขยายพันธุ์ไผ่หวานอ่างขางโดยวิธีการปักชำ
Propagation of Dendrocalamus latiflorus through Cutting

          

          การศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์ไผ่หวานอ่างขางแบบไม่อาศัยเพศ โดยวิธีการปักชำเป็นการพัฒนาเทคนิคการขยายพันธุ์ไผ่หวานอ่างขางซึ่งเป็นไผ่ในสกุล Dendrocalamus เช่นเดียวกับไผ่ตง ไผ่หก ไผ่บงใหญ่ ซึ่งสามารถใช้ส่วนต่างๆของไผ่ เช่นปักชำกิ่งแขนง การตอนกิ่ง การตัดแยกเหง้า การชำปล้องหรือลำ ไผ่หวานอ่างขางสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหน่อและลำ เป็นไม้เอนกประสงค์ จึงเป็นที่สนใจของเกษตรกร ดังนั้นการศึกษาวิธีการผลิตกล้าพันธุ์ไผ่หวานอ่างขางจึงมีความสำคัญต่อการปลูกสร้างสวนไผ่ การผลิตกล้าพันธุ์ไผ่โดยใช้ส่วนต่างๆจะสามารถเพิ่มโอกาสและปริมาณในการผลิตกล้าได้มากขึ้น ในช่วงการจัดการกับกอไผ่ไม่ว่าจะเพื่อหน่อหรือลำ การศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ในครั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาเทคนิคการขยายพันธุ์แบบง่ายและรวดเร็ว ใช้การปักชำในวัสดุเพาะชำคือแกลบดำ และใช้สารละลายเร่งราก(IBA)เข้มข้นทาบริเวณส่วนที่จะเกิดราก และใช้พลาสติกใสคลุมเพื่อรักษาความชื้นสัมพัทธ์ประมาณร้อยละ 95
          
          ผลการศึกษาพบว่าอัตราการรอดตายของเหง้าปักชำร้อยละ 90 ถ้าตัดหรือแยกเหง้าในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายน การตัดกิ่งแขนงปักชำและการชำปล้องหรือลำอัตราการรอดตายร้อยละ 50,25 ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ส่วนการตอนกิ่งแขนงมีอัตราการรอดตายร้อยละ 70 สามารถตอนกิ่งได้ตลอดปี จากวิธีการขยายพันธุ์ไผ่ทั้งสี่วิธีนี้สิ่งที่ควรพิจารณาให้ความสำคัญคือช่วงเวลาในการจัดการและการจัดการดูแลในช่วงปักชำในโรงเรือนเพาะชำเป็นสำคัญ

กิตติศักดิ์ จินดาวงค์ 1บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์ 2 สมาน ณ ลำปาง1 ขจร สุริยะ1 นคร อดุลย์วิศิษฏ์1 ธนศักดิ์ ประทุม1
1มูลนิธิโครงการหลวง อำเภอเมือง จ. เชียงใหม่ 50200
2คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร