เทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์และการพัฒนาของกล้าไผ่หวานอ่างขาง
Seed Technology and Seedling Development of Dendrocalamus latiflorus

           

          ไผ่หวานอ่างขางแสดงอาการการออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม อันเป็นช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว แต่ละลำภายในกอหนึ่งๆ ออกดอกไม่พร้อมกัน สามารถเก็บเมล็ดได้ในเดือนมกราคมถึงเมษายนของปีถัดมา เมล็ดมีขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 มิลลิเมตร ยาว 6-10 มิลลิเมตร มีจำนวนประมาณ 12,000 เมล็ดต่อกิโลกรัม เมล็ดมีความบริสุทธิ์ร้อยละ 90 และอัตราการงอกของเมล็ดใหม่มีร้อยละ 70 แต่ถ้าเก็บรักษาไม่ถูกวิธีอัตราการงอกจะลดลงเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 10 ภายในหนึ่งปี กล้าที่เพาะจากเมล็ดซึ่งเสื่อมคุณภาพมีอัตราการรอดตายต่ำ

          เมล็ดไผ่หวานอ่างขางที่เพาะจะเริ่มงอกภายใน 1 สัปดาห์ ต้นกล้าอายุ 1 เดือนมีความสูงประมาณ 8 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่คอราก 1.5 มิลลิเมตร มีเพียง 1 ต้น (ลำ) ต่อเมล็ด มีใบ 5-6 ใบ พื้นที่ผิวใบ 8 ตารางเซนติเมตรต่อต้น การฟอร์มลำเป็นกอจะปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปลายเดือนที่สองเป็นต้นไป โดยต้นกล้าที่มีอายุ 3, 6, 9, และ 12 เดือน มีจำนวนลำ 2, 2, 5, และ 5 ลำ และมีความสูง 16, 27, 46, และ 49 เซนติเมตร ตามลำดับ ความสูงและความโตของลำ รวมทั้งจำนวนลำต่อกอ (เริ่มจาก 1 เมล็ด) ปริมาณใบต่อลำ และพื้นที่ผิวใบต่อลำ เพิ่มขึ้นตามอายุของต้นกล้า กล้าที่ใช้ปลูกควรจะมีอายุระหว่าง 9-12 เดือน ซึ่งจะมีความสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับดิน 2-4 มิลลิเมตร มีจำนวนลำต่อกอ 5-6 ลำ แต่ละลำมีใบ 7-9 ใบ และมีพื้นที่ผิวใบประมาณ 140-160 ตารางเซนติเมตรต่อลำ เมื่อนำไปปลูกในพื้นที่ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่างกัน ปรากฏว่ากล้าที่ปลูกในพื้นที่สูง (800-1,400 เมตร) มีอัตราการเจริญเติบโตและการพัฒนาในภาพรวมดีกว่าในพื้นที่ต่ำ (400 เมตร)

 

บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์ 1กิตติศักดิ์ จินดาวงศ์ 2 และ จุติเทพ โพธิปักษ์ 3
1คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร
2ฝ่ายวิจัย มูลนิธิโครงการหลวง เชียงใหม่
3สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร