พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย
The Great Wisdom of His Majesty King Bhumibol Adulyadej and
Her Majesty Queen Sirikit to Wildlife Conservation in Thailand

           พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อ การอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย ศึกษาจากพระราชกรณียกิจเพียงบางประการ มิอาจครอบคลุมพระราชกรณียกิจที่พระองค์ได้ทรงกระทำทั้งหมด อันเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ ดังกรณีศึกษา ดังนี้

ธรรมชาติ และสัตว์ป่า

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยในพฤติกรรม และธรรมชาติของสัตว์ป่าต่างๆ เช่น ตุ๊กแก กบ เขียด นกกระเรียน ประสบการณ์ของพระองค์ท่านทรงใช้ธรรมชาติและสัตว์ป่า ทำนายสภาพลมฟ้าอากาศ เช่น พระองค์ท่าน ทรงกล่าวว่าเครื่องมือวัดฝนในสวนจิตรลดาเสียหาย หมายถึง กบ เขียดในสวนจิตรลดาหายหมดไป เนื่องด้วยปกติ กบ เขียดจะส่งเสียงร้องก่อนฝนตก พระองค์ทรงสังเกตการว่ายน้ำของนกกระทุง สามารถช่วยบอกทิศทางการพัดของกระแสลมได้ พระองค์ทรงถามผู้ใกล้ชิดว่าคางคกมีกี่นิ้ว ซึ่งหลายๆ คนนึกไม่ถึง และมองไม่เห็น หรือมิได้สังเกตสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัว อย่างถ่องแท้ดังเช่นพระองค์ท่าน

            ตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสังเกต และทราบว่า การกินอาหารของลิงนั้น ต้องรีบแย่ง รีบกินอาหารอย่างรวดเร็ว และแข่งกันมาก โดยกักเก็บไว้ข้างกระพุ้งแก้มก่อนเคี้ยว เป็นที่มาของ “โครงการแก้มลิง” ที่สร้างแนวคิดในการผันน้ำเหนือที่ไหลลงมามีอยู่มาก ในขณะที่น้ำทะเลขึ้นหนุนสูง จึงต้องผันมวลน้ำที่มีมากไปเก็บไว้ในพื้นที่ด้านข้างก่อน เพื่อชะลอและลดระดับน้ำลง เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ใช้ในแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และพื้นที่ราบที่ประสบปัญหาทั้งน้ำเหนือ และน้ำทะเลท่วมหนุนในเวลาเดียวกัน

การฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ และสัตว์ป่า

            โครงการพระราชดำริหลายพื้นที่ ซึ่งพระองค์ได้ทรงเน้นในเรื่องของการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ซึ่งธรรมชาติประสบความเสียหายทั้งจากภัยธรรมชาติ และจากน้ำมือมนุษย์ ทรงแนะนำในเรื่องของแนวทางการฟื้นฟูป่าไม้ อันก่อให้เกิดการกลายสภาพเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูสัตว์ป่าโดยกระบวนการธรรมชาติ และเป็นผลดีต่อการทดลองปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติในเวลาต่อมา

            จากแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ในการเร่งฟื้นฟูพื้นที่รอบๆ ห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการบุกรุกจากราษฎร และใช้พื้นที่การเกษตรอย่างขาดความเหมาะสม อีกทั้งเกิดความแห้งแล้ง และกำลังจะกลายเป็นทะเลทราย ทรงแนะนำให้ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้สมบูรณ์ดังเดิมในพื้นที่ 15,880 ไร่ และทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมให้เร่งขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อทราย (Axis porcinus) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าพื้นเพดั้งเดิมตามชื่อห้วยทราย ให้สามารถนำไปปล่อยให้ดำรงชีพในพื้นที่ป่าดั้งเดิมได้ ปัจจุบันสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายได้ดำเนินการปล่อยเนื้อทรายให้อาศัยอยู่ในป่าที่ได้รับการฟื้นฟูดังกล่าวนั้นแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทำพิธีปล่อยเนื้อทรายจากคอกเลี้ยงสู่คอกใหญ่ในป่าบริเวณรอบเขาเตาปูน เพื่อให้เนื้อทรายได้ปรับสภาพตามธรรมชาติ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2535

            เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณคลองบ้านอำเภอ ในท้องที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อประโยชน์ในการกสิกรรมของราษฎรในพื้นที่ เพื่อเป็นประโยชน์ในกิจกรรมทางศาสนาของวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร และเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูป่าเพื่อจัดตั้งเป็นวนอุทยานรักษาป่า และสัตว์ป่า ในพื้นที่ซึ่งสภาพธรรมชาติถูกทำลายทรุดโทรม และในคราวที่พระองค์เสด็จเยี่ยมบริเวณที่ก่อสร้างวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2526 ทรงแนะนำเรื่อง การฟื้นฟูสภาพป่า และสัตว์ป่าในบริเวณป่าเขาชีโอน โดยให้กรมป่าไม้ปลูกป่ารอบๆ บริเวณเขาชีโอน และจัดการสวนสัตว์ธรรมชาติ ต่อมากรมป่าไม้ได้เข้าปลูกป่า และดำเนินการสำรวจ และประกาศจัดตั้งพื้นที่ป่า 2,299 ไร่ ขึ้นเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2528 พร้อมกับการจัดตั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง ในพื้นที่ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูประชากรนกป่า และสัตว์ป่าประเภทสัตว์กีบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 มีใจความสำคัญที่ว่า ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศชายฝั่งของอ่าวไทย แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยกำลังถูกบุกรุก และถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกัน อนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกางเป็นพันธุ์ไม้ที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก ต้องการระบบน้ำขึ้นน้ำลง ในการเจริญเติบโต จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกาง และปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป

            ในบริเวณพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ป่าชายเลนที่เคยสมบูรณ์ได้ถูกทำลายจากการทำนากุ้ง ระบบการระบายน้ำเสียไม่ถูกวิธี ขาดระบบการดูแลกำจัด และระบายน้ำเสียที่เหมาะสม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับสนองและดำเนินภารกิจในพื้นที่ป่าชายเลนร่วมกันในระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมประมง และกรมป่าไม้ มีการแก้ไขเรื่องระบบการระบายน้ำจากนากุ้ง ควบคู่กับการปลูกไม้โกงกางเพิ่มเติม ปัจจุบันป่าชายเลนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับการปลูก ดูแล และฟื้นฟูตัวเองอย่างช้าๆ จนมีสภาพที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติป่าชายเลนของผู้สนใจที่มาชมกิจการของศูนย์ศึกษาการพัฒนา เพื่อแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของราษฎรบริเวณพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียง ผลสัมฤทธิ์ทางด้านสัตว์ป่าที่เห็นได้ชัดก็คือ พะยูน (Dugong; Dugon dugong) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนที่หาได้ยากและใกล้จะสูญพันธุ์ซึ่งหายไปจากบริเวณนี้นานกว่า 37 ปี ได้กลับเข้ามาอาศัยเมื่อพื้นที่มีความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมเหมาะสม และเอื้ออำนวย

การจัดการพื้นที่อาศัย และสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทอดพระเนตรเห็นความสมบูรณ์ของป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ขณะประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินผ่าน ในระหว่างการแปรพระราชฐานจากจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร กลับสู่กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นโครงการตามแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ จึงได้กำเนิดขึ้นหลายโครงการ เช่น มีการดำเนินงานโครงการสวนสัตว์ธรรมชาติภูเขียว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้คณะทำงานที่ได้รับการจัดตั้งโดยกองทัพภาคที่ 2 ได้รับการสนับสนุนงาน กปร. เมื่อปี 2526 เพื่อส่งเสริมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และโครงการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยส่งเสริมให้สัตว์ป่าอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีการกักขัง แต่มีการเข้าไปดำเนินการในการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมต่อสัตว์ป่า ต่อมาพระองค์ท่านทรงศึกษาแผนที่ และเสนอแนะแนวคิดในการดำเนินการปรับปรุงถิ่นที่อาศัย โดยการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในหน้าแล้งในพื้นที่บริเวณแหล่งสัตว์ป่าที่ทุ่งกะมัง และทรงเลือกจุดสร้างฝายหลายแห่ง และที่บริเวณพื้นที่บึงมน กลายสภาพเป็นแหล่งน้ำที่มีคุณค่าของนกป่าที่หายาก เช่น เป็ดก่า และนกอ้ายงั่ว ตลอดจนถึงนกน้ำต่างๆ หลายชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น หมูป่า อีเก้ง กวางป่า กระทิง และช้างป่า ได้เข้ามาใช้แหล่งน้ำแห่งนี้ตลอดทั้งปี โดยทรงพระราชทานแนวคิดในการจัดการแหล่งน้ำจากการจัดทำฝายขนาดเล็ก และทรงเน้นเรื่องความปลอดภัยของสัตว์ป่า ผู้เกี่ยวข้องคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ได้นำแนวพระราชดำริไปดำเนินการ และรณรงค์ขอมอบอาวุธปืนคืนจากราษฎรซึ่งมีอาชีพเป็นพรานป่าได้สำเร็จ ซึ่งทำให้สัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

               ในปี พ.ศ. 2526 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ เสด็จประทับแรม ณ เรือนประทับแรมทุ่งกะมัง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ทรงปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ เช่น ไก่ฟ้า นกต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อทราย ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นสัตว์ป่าสงวน แหล่งทุ่งหญ้า และแหล่งน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานคำแนะนำให้จัดสร้างฝายกั้นน้ำขึ้น แหล่งน้ำกลางทุ่งที่เกิดขึ้นมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของเนื้อทราย จากประชากรเนื้อทรายตั้งต้นที่ปล่อยสู่ธรรมชาติ 2 ครั้งในปี 2525 และ 2530 รวม 15 ตัว ซึ่งประชากรเนื้อทรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันสามารถนับได้ไม่น้อย กว่า 100 ตัว

การแก้ปัญหาช้างป่าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

              โครงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี พ.ศ. 2540 พระองค์ท่าน ทรงแนะนำให้ดำเนินการในบริเวณพื้นที่ตอนในของป่า เพื่อดึงช้างป่าให้คงอยู่ในป่า ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทรงแนะนำให้แก้ปัญหาด้วยแนวทางต่างๆ สามารถสรุปได้เป็น 3 ประการ ดังนี้ คือ การทำฝายแม้ว (check dam) เพื่อชะลอ และกักเก็บน้ำไว้ในป่าตอนใน เพื่อให้ป่าเกิดความชุ่มชื้น การโปรยเมล็ดหญ้าด้วยเครื่องบิน เพื่อให้หญ้าขึ้นในพื้นที่เป็นการเพิ่มอาหารแก่สัตว์ป่า การจัดการแหล่งอาหารในบริเวณป่าด้านใน เพื่อให้ช้างป่าหากินอยู่ในบริเวณป่าด้านใน ทรงเน้นเรื่องการให้ความปลอดภัยแก่ช้างป่า



 

 

นริศ ภูมิภาคพันธ์ , อุทัยวรรณ แสงวณิช,วิจักขณ์ ฉิมโฉม ,ยงยุทธ ไตรสุรัตน์ ,รองลาภ สุขมาสรวง และ ประทีป ด้วงแค
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-0176