หมู่บ้านไม้เศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
Village of Economically Viable Trees through Royally Initiated Sufficient Economy

        ไม้เป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งเป็นที่อยู่อาศัย การหุงหาอาหาร รวมถึงเป็นเครื่องมือต่างๆ จะเกิดผลดีแค่ไหนถ้าชุมชนสามารถปลูกไม้ไว้ใช้สอยภายในชุมชนและสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนโดยใช้ไม้เป็นฐานในการผลิต หมู่บ้านไม้เศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถพึ่งพิงทรัพยากรไม้ ร่วมกับการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตตามวิถีเดิม ได้อย่างเอื้อเฟื้อและสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ดังโครงการพระราชดำริ “การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งเป็นแนวทางการปลูกป่าโดยปลูกพืชหลายชนิดร่วมกัน ได้แก่ ปลูกผลไม้ ได้ผลไม้ ปลูกไม้ใช้งาน ได้ประโยชน์ใช้สอย ปลูกไม้โตเร็วได้เชื้อเพลิง ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ได้ความอุดมสมบูรณ์และชุมชื้นเหมือนกับป่าธรรมชาติ

การปลูกไม้ภายในชุมชนสามารถปฏิบัติได้หลายแนวทาง ดังนี้

            การปลูกไม้โตเร็วตามหัวไร่ปลายนา เป็นการเพิ่มมูลค่าแก่พื้นที่ว่างในพื้นที่การเกษตรของประชาชน ซึ่งจะเป็นการปลูกไม้ยืนต้นร่วมกับการผลิตในภาคเกษตรอย่างไม่เป็นระบบ คือปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ว่างที่มีอยู่ เช่นคันนา ทั้งยังสามารถใช้เป็นแนวขอบเขตแปลง แนวขอบเขตพื้นที่หรือใช้เป็นแนวกันลมให้กับพืชผลต่างๆ และยังสามารถนำไม้ที่ปลูกมาใช้สอยได้ตามต้องการหรือส่งขายก็เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

            การปลูกไม้ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ เช่น โรงเรียน วัด ป่าชุมชน สวนสาธารณะ ริมถนน เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแก่ชุมชนและยังสามารถนำไม้มาใช้ประโยชน์ได้เมื่อไม้โตเต็มที่แล้ว

         สวนป่าไม้เศรษฐกิจ เป็นการปลูกไม้ยืนต้นในลักษณะสวนป่าคือปลูกไม้ยืนต้นเต็มทั้งพื้นที่ โดยการปลูกวิธีนี้จะเป็นการมุ่งเน้นผลผลิตทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก

          การปลูกไม้ในรูปแบบวนเกษตร จะเป็นการปลูกไม้ยืนต้นร่วมกับพืชเกษตรอย่างเป็นระบบแบบแผน เช่น การปลูกไม้ยืนต้นสลับกับพืชเกษตรแบบแถวเว้นแถว ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า และระหว่างที่รอผลผลิตจากไม้ยืนต้นซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี ก็จะได้รับผลตอบแทนจากพืชเกษตรที่ปลูกร่วมกัน ในทุกๆ ระบบการปลูกไม้นี้ เมื่อมีการตัดฟันไม้มาใช้ประโยชน์ก็สามารถปลูกไม้ทดแทนเพื่อให้มีทรัพยากรไม้ใช้สอยอย่างยั่งยืนตลอดไป

          ยูคาลิปตัส เป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไป เนื่องจากมีรอบตัดฟันสั้นและมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ทั้งในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ชิ้นไม้สับ และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ โดยสามารถใช้พื้นที่ปลูกบนคันนาได้ แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ผลกระทบต่อการดูดซับก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ สมบัติของดิน ธาตุอาหาร การใช้น้ำ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ร่วมกับบริษัทสมาชิกส่งเสริม จำกัด บริษัทยูคาลิปตัสเทคโนโลยี จำกัด และบริษัท พีซี เอส จำกัด จึงให้การสนับสนุนทุนแก่คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมป่าไม้ เพื่อดำเนินงานโครงการ “การวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในชนบทโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้วยการปลูกไม้โตเร็ว” โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่าง วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 – 30 มิถุนายน 2551 โดยมีพื้นที่ศึกษาในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานการเจริญเติบโตของไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกบนคันนา บริเวณรอบบ้าน และในไร่มันสำปะหลัง ได้ทราบเทคนิคการปลูกในฤดูแล้ง รวมถึงแม่ไม้ ระยะปลูก และรอบตัดฟันที่เหมาะสม ข้อมูลผลกระทบของการปลูกไม้ยูคาลิปตัส ที่มีต่อดิน น้ำ และการเก็บกักคาร์บอน ได้ข้อมูลด้านต้นทุนและผลตอบแทนของการปลูกพืชเกษตรกับการปลูก
ไม้ยูคาลิปตัสในระบบวนเกษตร

             ผลงานวิจัยที่ได้คาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ในการคัดเลือกสายพันธุ์ และวิธีการปลูกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศและผลผลิตของพืชควบ ทำให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในรูปของกระแสรายวันจากพืชเกษตรและเงินออมจากไม้ยืนต้น ผู้ประกอบการซึ่งใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบก็มีป้อนโรงงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดแคลน ก่อให้เกิดการสร้างงานและพัฒนาชุมชนชนบทอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในการแก้ปัญหาโรคร้อน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่แผ่นดิน

โดยมีโครงการย่อย 9 โครงการ และชื่อหัวหน้าโครงการ ดังนี้

1 โครงการวิจัยประยุกต์การปลูกไม้โตเร็วบนคันนา และตามแนวเขตแปลงเกษตร
            หัวหน้าโครงการ : ดร.เริงชัย เผ่าสัจจ
2 การปลูกไม้โตเร็วบนคันนาปรับแต่งในระหว่างฤดูแล้งอย่างประณีตด้วยระยะห่างต่างกัน
            หัวหน้าโครงการ : นายพิรัตน์ นาครินทร์
3 การประเมินการเก็บกักคาร์บอนของการปลูกไม้โตเร็วรูปแบบต่างๆ
            หัวหน้าโครงการ : ดร. สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3 ผลกระทบของการปลูกไม้โตเร็วต่อคุณสมบัติของดิน การหมุนเวียนธาตุอาหารพืชและการกระจายของราก
            หัวหน้าโครงการ : ดร. รุ่งเรือง พูลศิริ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4 การใช้น้ำและประสิทธิภาพการใช้น้ำของไม้โตเร็ว
            หัวหน้าโครงการ : ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5 ศักยภาพทางเศรษฐกิจของการปลูกไม้โตเร็วในระบบวนเกษตร
            หัวหน้าโครงการ : นายณัฐวัฒน์ คลังทรัพย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6 ความเป็นไปได้ของการปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนา ด้วยระยะห่างระหว่างต้นต่าง ๆ กัน
            หัวหน้าโครงการ : นายบพิตร เกียรติวุฒินนท์ กรมป่าไม้
7 การปลูกเปรียบเทียบแม่ไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาทั่วไป
            หัวหน้าโครงการ : นายวิฑูรย์ เหลืองวิริยะแสง กรมป่าไม้
8 ความเป็นไปได้ของการปลูกไม้ยูคาลิปตัสแทรกเป็นแถบในแปลงปลูกมันสำปะหลัง
            หัวหน้าโครงการ : นายทศพร วัชรางกูร กรมป่าไม้

   



บุญวงศ์ไทยอุตส่าห์ และคณะ
ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2561-4761