การศึกษาประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
The Assessment Study on Rain Making Operation at Eastern Coastal Area

        การปฏิบัติการรายวันของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรระยองตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการฝนหลวง ในวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 ตุลาคม 2548 ซึ่งรวมเวลาที่ใช้ในการศึกษาทั้งสิ้น 214 วัน มีวันปฏิบัติการฝนหลวงรวมทั้งสิ้น 197 วัน และไม่ปฏิบัติการจำนวน 17 วัน ในช่วงเวลาการปฏิบัติการเพิ่มน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหลและหนอง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งพื้นที่โดยวิธี Isohyetal method พบว่าบริเวณอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมีปริมาณฝนโดยรวมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 ถึง 31 ตุลาคม 2548 สูงกว่า อ่างเก็บน้ำดอกกรายและหนองค้อ โดยมีปริมาณน้ำฝนรวม 7 เดือนของอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และหนองค้อ เท่ากับ 1,051.01, 1,389.54 และ 1,306.05 มิลลิเมตร ตามลำดับ และมีจำนวนวันที่ฝนตกเท่ากับ 141, 153 และ 129 วัน ตามลำดับ การระเหยน้ำของอ่างเก็บน้ำหนองค้อมีค่ามากที่สุดในเดือนมีนาคมและเมษายน และน้อยที่สุดในเดือนตุลาคม อ่างเก็บน้ำดอกกรายและหนองปลาไหล มีค่ามากที่สุดในเดือนเมษายน และค่าน้อยที่สุดเดือนกันยายน จากการ วิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยร่วมกับปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำ สรุปได้ว่า ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และ หนองค้อ คิดเป็นร้อยละ 12.05, 12.61 และ 18.91 ของปริมาณน้ำฝนที่ตกรวมทั้งพื้นที่ จากการปฏิบัติการทำฝนเทียม ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่ 6 จังหวัดจันทบุรี, ระยอง และสระแก้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 ตุลาคม 2548 ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนเที่ยวบิน ในการทำฝนต่อวันกับปริมาณน้ำฝนรายวันรวมทั้งพื้นที่ (ลูกบาศก์เมตร) ในบริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และ หนองค้อ พบว่าไม่มี ความสัมพันธ์กันการปฏิบัติการฝนหลวงมีการใช้สารเคมีสูตร 1 (เกลือแป้ง; Sodium Chloride) สูตร 3 น้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) สูตร 4 ยูเรีย (CO(NH2)) สูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) สูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ (CaO) และสารฝนหลวงสูตรฝนหลวง ท1 ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ระหว่างการใช้สารเคมีรวมกับปริมาณน้ำฝนรายวันรวมทั้งพื้นที่ (ลูกบาศก์เมตร) ของอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และหนองค้อ พบว่าไม่ม ีความสัมพันธ์กัน และจากการวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายวันร่วมกับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรายวันของอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และ หนองค้อ พบว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำอ่างเก็บน้ำดอกกราย มีปริมาณฝนตกรวม 1,051.01 มิลลิเมตร หรือเป็นปริมาณ น้ำฝนทั้งพื้นที่เท่ากับ 305,840,418.00 ลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวม 58,892,477.04 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับร้อยละ 19.26 อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาณฝนตกรวมเท่ากับ 1,389.54 มิลลิเมตร หรือเป็นปริมาณน้ำฝนทั้งพื้นที่เท่ากับ 566,932,728.00 ลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวม 94,685,534.01 หรือเท่ากับร้อยละ 16.70 และอ่างเก็บน้ำหนองค้อมีปริมาณฝนตกรวมเท่ากับ 1,306.05 มิลลิเมตร หรือเป็นปริมาณน้ำฝนทั้งพื้นที่เท่ากับ 66,710,550.00 ลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวม 16,807,526.15 หรือเท่ากับร้อยละ 25.19 และ จากการประเมินผลการปฏิบัติการ ในพื้นที่ลุ่มน้ำโดยการคำนวณค่า double ratio ของพื้นที่ลุ่มน้ำอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และหนองค้อ พบว่าอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 อ่างมีค่า double ratio มากกว่า 1 แสดงว่า การทำฝนหลวงทำให้ฝนเพิ่มสูงขึ้นกว่าการเกิดเองตามธรรมชาติ โดยอ่างเก็บน้ำ หนองปลาไหลมีค่า double ratio มากที่สุด เท่ากับ 2.3 เท่าของช่วงไม่มีการทำฝนหลวง (non seeded) และรองลงมาได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ มีค่า double ratio เท่ากับ 1.6 และ 1.4 เท่าของช่วงไม่มีการทำฝนหลวง (non seeded)

อ่างเก็บน้ำดอกกราย

อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล

อ่างเก็บน้ำหนองค้อ


วีระศักดิ์ อุดมโชค 1  วราวุธ ขันติยานันท์ 2   ประเสริฐ อังสุรัตน์2  ทวี กาญจนา2  กอบเกียรติ ผ่องพุฒิ3
พงศกร จิวาภรณ์คุปต์1  ประหยัด นันทศีล 1  พูลศิริ ชูชีพ4  กรองจิต เกษจินดา1  และ สายฝน ทมกระโทก1
1 ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2 สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร
3 ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์