ในปัจจุบันการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน
ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในเชิงอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการนำมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศน์ และเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายในระบบและพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด
ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความพอประมาณ การมีเหตุมีผล
และการสร้างภูมิกันที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก
ระบบวนเกษตร
เป็นการใช้ที่ดินที่ผสมผสานความกลมกลืนให้เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมป่าไม้กับกิจกรรมการเกษตรต่างๆ
ที่ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของที่ดินหน่วยหนึ่งๆ
เพื่อช่วยรักษาและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการหมุนเวียนธาตุอาหารของต้นไม้
ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นระบบที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่หลากหลายและมีความยั่งยืน
เพื่อสนองตอบต่อความต้องการพื้นฐานด้านปัจจัย 4 ของมนุษย์ ทั้งไม้ใช้สอย
ไม้ฟืน แหล่งอาหารเสริม แหล่งอาหารสัตว์ เส้นใย สมุนไพร ฯลฯ ช่วยลดต้นทุนการผลิตในฟาร์ม
และเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับเกษตรกร การพัฒนาระบบวนเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยฐานความพอเพียงด้านนิเวศวิทยา (ecological
sufficiency) เป็นสำคัญ กล่าวคือ เมื่อเกิดความพอเพียงหรือสมดุลของระบบนิเวศ
เช่น มีการใช้ที่ดินที่เหมาะสมตามสมรรถนะที่ดินหรือตามชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ
ก็จะช่วยลดผลกระทบจากน้ำไหล่บ่าหน้าดินและการเกิดกษัยการ หรือการมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในระบบการผลิตก็จะก่อให้เกิดความหลากหลายของผลผลิตและลดความเสี่ยงด้านราคาและโรคแมลงระบาด
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาในระบบ
และเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความพอประมาณ กล่าวคือ
ผลผลิตที่หลากหลายในระบบวนเกษตรจะช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งจากการบริโภคในครัวเรือน
และการผลิตภาคการเกษตร เช่น แรงงาน ปุ๋ย สารเคมี ทำให้เกิดการพึ่งพิงตนเองเป็นหลัก
สุดท้ายเมื่อระบบการผลิตมีภูมิคุ้มกันที่ดีและมีความพอประมาณที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปแล้ว
เกษตรกรก็จะมีเวลามากขึ้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันหรือมีเวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากการเข้ารับการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี
ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีหลักการคิดหรือการมีเหตุมีผล
ในการทำกิจกรรมการเกษตรที่ถูกต้องมากขึ้น
|