การรวบรวมพันธุ์เฟินในสกุล“Plastycerium และLycopodium” เพื่อการอนุรักษ์
The Collection of Plastycerium and Lycopodium Fern for Conservation

          
            การรวบรวมพันธุ์เฟินในสกุล“PlastyceriumและLycopodium” เพื่อการอนุรักษ์ เนื่องจากปัจจุบันเฟินในกลุ่มนี้ในป่าบ้านเราแถบจะสูญพันธุ์หรือพบได้ยากขึ้นเนื่องจากมีการลักลอบเก็บจากป่ามาจำหน่ายอย่างเดียวทั้งในพื้นที่และส่งมายังกรุงเทพฯ(ตลาดนัดจตุจักร) และที่มีจำหน่ายในปัจจุบันจะเป็นไม้ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา ลาวและเมียนม่า ส่วนใหญ่คนที่หันมาชอบไม้เหล่านี้บางครั้งยังไม่ทราบนิสัยในการเลี้ยงก็จะเป็นการนำไปปลูกเลี้ยงแล้วจะตายเป็นส่วนใหญ่ ทางโครงการของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร ที่มีผมเป็นหัวหน้าสถานีและได้มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติงานวิจัยในหลายพื้นที่และได้เก็บสะสมเฟินในสกุลนี้และสกุลใกล้เคียงทั้งจากการซื้อไม้ดิบตามแหล่งขายในพื้นที่(สมัยก่อน) และเพื่อนๆที่ปลูกเลี้ยงไว้แล้ว ได้มองเห็นปัญหาการซื้อพืชเหล่านี้จากป่าแล้วจะเลี้ยงไม่รอดเป็นการเสียทั้งเงินและส่งเสริมการเก็บจากป่าเพิ่ม จึงได้รวบรวมพันธุ์เฟินเพื่อวิจัยและเป็นแหล่งขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และในอนาคตผลิตเพื่อจำหน่ายและเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ เยี่ยมชม สำหรับคนชอบเฟินในสกุลนี้ได้เลือกและทราบข้อมูลในการปลูกเลี้ยงโดยไม่ไปซื้อไม้จากป่าอีกต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันเราได้มีการขยายพันธุ์ได้หลายชนิดและพร้อมที่จะให้คำแนะนำ แต่อาจจะมีผู้รอบรู้อีกหลายๆแหล่งที่มีทักษะในการปลูกเลี้ยงพืชเหล่านี้อีกก็ต้องเสาะแสวงหาต่อไป ปัจจุบันเฟินในกลุ่ม Plastycerium หรือในบ้านเรานิยมเรียกว่าชายผ้าสีดานั้นในโลกนี้มีทั้งหมด 18 ชนิด(species) สำหรับในประเทศไทยของเรามีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ 1) ชายผ้าสีดาปีกผีเสื้อ(P. willinchii) พบมากในแถบภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันตก 2) ชายผ้าสีดาหูช้าง (P. holttumii) เป็นชายผ้าสีดาที่ได้รับความนิยมและเห็นปลูกทั่วๆไปเนื่องจากมีการปรับตัวได้ดีแม้ปลูกในสภาพเมือง3) ชายผ้าสีดาสายผ้าม่าน (P. coronarium) เป็นอีกพันธุ์ที่พบในประเทศไทยในแถบที่มีความชื้นสูงเช่นในแถบภาคตะวันออกและทางภาคใต้ 4) ชายผ้าสีดาเขากวางตั้ง (P. ridleyi) พบได้ในแถบชายฝั่งตะวันตกจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปทางภาคใต้และในฝั่งประเทศเมียนม่าพบในแหล่งป่าดิบชื้น สำหรับพันธุ์แท้จากต่างประเทศเช่นในทวีปอเมริกาที่มีชายผ้าสีดาเพียงชนิดเดียวคือ 4) P. andinum ในแถบหมู่เกาะมาดากัสการ์ก็มีหลายชนิดคือ5) P. madagascariense 6) P.ellisii 7) P.quadridichotomum และ 8) P. wallichii จากทวีปแอฟริกาได้แก่ 9)P. elephantotis ,10) P. stemaria ,11) P. alcicorne จากประเทศฟิลิปปินส์ได้แก่พันธุ์
ที่แตกต่างจากบ้านเราคือ 12)P. grande จากประเทศอินโดนีเซียได้แก่พันธุ์ 13) P. wandae, จากประเทศออสเตรเลียได้แก่ 14)P. hillii พันธุ์ที่หายากได้แก่ 15)P. superbum 16)P.veitchii ปลูกง่าย แตกหน่อง่าย 17)P.bifurcatum เลี้ยงง่ายและ 18)P. hottumii

           ไลโคโปเดียม (Lycopodium ) คือพืชชั้นต่ำประเภทหนึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายเฟิน แต่ยังไม่มีการพัฒนาได้เท่าเฟินพบ Lycopodium มีมากกว่า 200 ชนิด ส่วนในประเทศไทย Lycopodium ที่ขึ้นเกาะคบไม้มีหลายชนิดได้แก่ สร้อยนางกรอง ช้องนางคลี่ หางสิงห์ ยมโดยหรือระย้าเกร็ดหอย ซึ่งพบกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่มักพบมากในเขตฝนตกชุก อย่างภาคใต้และภาคตะวันออก การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับไม้กลุ่มนี้ มีดังนี้

  1. ต้องมีร่มเงา เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่ หากไม่มีควรกางสาแลนบังแสงแดดในบริเวณบ้าน
  2. มีแสงแดดส่องถึง 50 เปอร์เซ็นต์สำหรับ Lycopodium
  3. มีความชุ่มชื้นในอากาศสูง
  4. ปลูกไม้อื่นๆ รวมเป็นกลุ่มให้เกิดความร่มรื่นในร่ม ไม้คลุมดิน กล้วยไม้ ไม้ใบขนาดเล็กด้านล่างโรงเรือนช่วยให้มีไม้ประดับหลายชนิด
  5. จัดตกแต่งพื้นให้เย็นชุ่มชื้น เช่น ปูอิฐมอญบนพื้นดินหรือหินกรวด เมื่อถูกน้ำชุ่มๆ ไม่นานจะมีมอสขึ้นมองเหมือนปูพรมสีเขียวไว้

วัสดุปลูกและการปลูก

  1. ใช้รากชายผ้าสีดา ( ส่วนที่ตายแล้ว ) ตัดเป็นแผ่นขนาดพอสมควรนำหน่อหรือต้นขนาดเล็กมาฝังส่วนรากลงไปในก้อนชายผ้าสีดา ตรึงด้วยลวดตัวยูที่ไม่เป็นสนิม ระวังอย่าให้โดนราก หรือปลูกลงในกระถางก็ใช้วัสดุปลูกชิ้นเล็กๆยัดลงไปให้แน่นแล้วใช้ลวดตัดให้มีความยาวพอประมาณทำเป็นตัวยูเสียบให้แน่น แล้วใช้เชือกมัดทับอีกครั้งให้แน่นแล้วนำไปแขวนในร่มพร้อมทั้งรดน้ำให้ชื้นได้เลย
  2. การปลูก Lycopodium ไว้ในกระถางแนะนำว่าควรเปลี่ยนเครื่องปลูกปีละครั้ง เมื่อเครื่องปลูกเก่าและยุ่ยควรเปลี่ยนใหม่โดยเลาะเครื่องปลูกเก่าออกจนถึงราก ระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือน หรือเสริมบริเวณรอบ โดยประกบเครื่องปลูก(แผ่นชายผ้าสีดาที่ตายแล้ว)ใหม่เข้าไป ใช้เชือกรัดให้อยู่ตัว
  3. การปลูกหรือแยกหน่อ Plastycerium ก็ใช้แผ่นกระเช้าสีดาที่ตายแล้วมาปลูกเพื่อแขวนประดับ หากต้นที่มีขนาดใหญ่จะปลูกเกาะกับต้นไม้เลยก็สามารถทำได้เลย หากแยกหน่อหรือต้นขนาดเล็กควรใช้แผ่นกระเช้าสีดาฉีกประกบข้างๆต้นเพิ่มพื้นที่รักษาความชื้นไม่ทำให้ต้นที่แยกหรือปลูกใหม่
    ชะงักการเจริญเติบโตควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

           การให้น้ำพืช Plastycerium สำหรับน้ำ ควรใช้น้ำสะอาด มีค่า pH 7 เช่น น้ำประปา น้ำฝน จะทำให้ต้นไม้สะอาด สวยงาม ไม่ควรใช้น้ำบาดาลซึ่งมีส่วนผสมของหินปูนทำให้ยอดเสียและใบไหม้ ส่วน Lycopodium เมื่อนำมาเลี้ยงในสวนบริเวณบ้านของเราต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีร่มเงาและความชุ่มชื้นในอากาศสูง จึงต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเพียงวันละครั้งในช่วงเช้า หากมีกอหรือวัสดุปลูกขนาดใหญ่ก็สามารถทิ้งระยะห่างของการรดน้ำเป็น 2-3 วันต่อครั้ง ส่วนหน้าฝนก็ต้องพิจารณาแต่ละวันไปหากเลี้ยงนอกโรงเรือนจะตองระวังมากในช่วงฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจะทำให้เกิดปัญหาต้นเน่าตามมา

           แสงแดด Plastycerium ค่อนข้างที่จะต้องการแสงมากถึงการปลูกกลางแจ้ง ส่วนLycopodium จะต้องการแสงแดดอ่อนๆ ราว 50 เปอร์เซ็นต์ อาจใช้ซาแรนพรางแสงขึงช่วยได้ในบริเวณที่มีแสงแดดจัดเกินไปและไม่มีไม้ยืนต้น

           การให้ปุ๋ย เนื่องจาก Plastycerium และ Lycopodium เลือกปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตรเสมอ 14-14-14 หรืออาจเลือกที่มีธาตุรองผสมอยู่จะยิ่งเป็นประโยชน์กับพืชชนิดนี้ ใส่โดยการฝังลงไปในเครื่องปลูก หรือใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำแบบที่ใช้กับกล้วยไม้ โดยผสมน้ำให้เจือจางกว่าปกติแล้วจึงฉีดพ่นเพราะไม้พวกนี้และเฟินต่างๆ จะไวต่อสิ่งแปลกปลอม หากให้มากเกินไปอาจเกิดผลเสียหรือตายได้

           ศัตรูพืชของ Plastycerium และ Lycopodium คือ โรคจะมีเชื้อราเข้าทำความเสียหายบ้างในช่วงฤดูฝนหรือในพื้นที่อับลมบ้าง แมลงที่ทำความเสียหายมากๆที่พบคือ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ส่วนใหญ่ติดมาจากพืชอื่นที่ปลูกร่วมกันโดยมีมดเป็นตัวการคาบมา

           การขยายพันธุ์ Plastyceriumมี 3วิธีได้แก่ 1.สปอร์ 2. การแยกหน่อ 3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนการขยายพันธุ์ Lycopodiumมี 2 วิธีได้แก่1. แบ่งกอ 2. ชำยอด

           การรวบรวมพันธุ์เฟินในสกุล“Plastycerium และLycopodium” เพื่อการอนุรักษ์ เนื่องจากมีการปลูกและดูแลรักษาคล้ายกันซึ่งในปัจจุบันก็พบได้ยากในป่าของไทยจึงเป็นอีกพืชกลุ่มหนึ่งที่ควรจะศึกษาและวิจัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงไปสู่การนำไปปลูกประดับได้ในอนาคต







 

ประภาส ช่างเหล็ก
สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร
,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.081-930-0306