มะเดื่อฝรั่ง : ผลไม้สุขภาพ
Fig : The Healthy Fruit.

           มะเดื่อฝรั่งหรือ Fig มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ficus carica จัดอยู่ในวงศ์ Moraceae เช่นเดียวกับพวกหม่อน (Mulberry) เป็นพืชประเภทกึ่งร้อนหรือ Subtropical plant ที่มีการผลัดใบ ถือว่าเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลางที่นิยมปลูกกันมานานหลายศตวรรษ มีการนำผลมาบริโภคแบบผลไม้สดและแปรรูปมากมายเช่น ผลไม้แห้ง บรรจุลงภาชนะต่างๆ และแยม เป็นต้น

           มูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการนำต้นพันธุ์มะเดื่อฝรั่งจากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูกและศึกษาวิจัยมาเกือบ 25 ปีแล้ว เพื่อวัตถุประสงค์ในการหาพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวไทยภูเขาทดแทนการปลูกฝิ่นทางภาคเหนือ หลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้นและสรุปผลการทดลองได้ว่า ต้นมะเดื่อฝรั่งบางสายพันธุ์ได้แก่ Conadria, Beall, Brown Turkey, Purplish Black สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ ถึงแม้จะประสบปัญหาเกี่ยวโรคแมลงบ้างในแปลงทดลองก็ตาม และมีการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา กายวิภาควิทยา และการเจริญเติบโตของมะเดื่อฝรั่งอีกสองสายพันธุ์ได้แก่ White Marseilles และ Dauphine ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงต่อมาเพิ่มเติม

           ในระหว่างปีงบประมาณ 2549-2550 ได้จัดทำโครงการวิจัยมะเดื่อฝรั่งแบบบรูณาการเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคสินค้าเกษตรตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและเพื่อการแข่งขันกับต่างประเทศหลังจากการเปิดตลาดการค้าเสรี โดยได้รับงบประมาณจากฝ่ายวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งได้ดำเนินเป็นโครงการย่อยดังต่อไปนี้

           โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกมะเดื่อฝรั่งในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง (Research and Development on Technology of Fig (Ficus carica LINN.) Production in Royal Project Foundation Areas)

    โครงการย่อยที่ 1 : การศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิตของมะเดื่อฝรั่ง (Ficus carica LINN.) พันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง (Study on Growth and Yield of Fig (Ficus carica LINN.) in Royal Project Foundation Areas)

    โครงการย่อยที่ 2 : การศึกษาอายุเก็บเกี่ยวและกระบวนการอบแห้งผลมะเดื่อฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทย (Optimal Harvesting time and dehydration process for figs grown in Thailand)

    โครงการย่อยที่ 3 : การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาในการสุกของมะเดื่อฝรั่งและปริมาณของเอนไซม์ฟิซิน และเพคติน (Relationship between stage of ripening and contents of ficin enzyme and pectin in fig)

           จากผลการทดลองที่ผ่านทำให้ได้รับทราบข้อมูลทางด้านการเจริญเติบโต ลักษณะประจำพันธุ์ การปลูกและดูแลรักษา การขยายพันธุ์ ปริมาณสารธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อการบริโภค กระบวนการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา แนวทางการแปรรูปผลผลิตเพื่ออุตสาหกรรมในครัวเรือน ตลอดจนการบริหารจัดการทางด้านตลาดและกรอบดำเนินการในกระบวนการส่งเสริมในช่วงต่อไป


ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์1  พิลาณี ไวถนอมสัตย์2  เกศศินี ตระกูลทิวากร3   สาวิตรี ทิวงศ์4  เบ็ญจารัชด ทองยืน1  และ กนกธร วงศ์กิติ4
1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4มูลนิธิโครงการหลวง
โทร 0-2579-6959