โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านกระบวนการออกแบบและถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีห้องอบผลิตภัณฑ์จักสานเพื่อยกระดับความสามารถในการผลิต
Developing and Disseminating Smoke Chamber Technology
for Bamboo Handicraft Products to Foster Quality of Lif
e

          ชุมชน บ้านยางทอง ต.บางเจ้าฉ่าเป็นชุมชนที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋า กระบุง ตะกร้า และเครื่องใช้ กระบวนการหนึ่งที่สำคัญในการผลิตคือการอบผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ความร้อนจากการเผาฟางเพื่อป้องกันเชื้อรา ซึ่งยังใช้วิธีการอบแบบดั้งเดิม โดยให้คนหมุนผลิตภัณฑ์ไปมาในห้องอบที่มีการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ เพื่อให้เกิดควันในการอบผลิตภัณฑ์จนความชื้นหมดไป ด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้ส่ง ผลกระทบต่อสุขภาพของคนอบ ที่เริ่มมีอาการไอ เจ็บคอ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอด เกษตรกรได้พยายามแก้ไขปัญหาในการอบผลิตภัณฑ์หลายวิธี เช่น การปิดตู้อบให้มิดชิดเพื่อให้ความร้อนอยู่ตัว หรือ การแขวนผลิตภัณฑ์บนไม้ขณะอบ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เกษตรกรจึงยังจำเป็นต้องใช้วิธีการผลิตที่ยังไม่เหมาะสมอยู่ จากปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยเห็นว่าควรพัฒนาห้องอบผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรสามารถทำงานได้โดยไม่เกิดปัญหาต่อสุขภาพ และสามารถเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจ

           การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการชนิดมีส่วนร่วม (participatory action research) ระหว่างนักวิชาการในสถานศึกษา สถาบันส่งเสริมทางการเกษตร และองค์กรท้องถิ่น เสริมด้วยกระบวนการทดลอง (experimental research) เพื่อพัฒนารูปแบบห้องอบผลิตภัณฑ์ที่ดีและเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน มีการติดตามผล ให้คำปรึกษาและประเมินผลในภาพรวม กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรชุมชนบ้านยางทอง ต.บางเจ้าฉ่า และเกษตรกรเครือข่าย ในจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา จำนวน 500 คน

ผลการวิจัย

           1.ผลการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นระหว่างนักวิชาการและกลุ่มแม่บ้านสตรีจักสานได้นำไปสู่การออกแบบตู้อบผลิตภัณฑ์ 3 แบบ ดังนี้

           2. ผลการทดลองพบว่า ตู้อบผลิตภัณฑ์ แบบ A ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร เนื่องจากมีอัตราของควันไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟุ้งอยู่ในอากาศ ในระดับที่ผู้อบสูดควันได้ ส่วนตู้อบผลิตภัณฑ์ แบบ B พบว่าเหมาะสมเนื่องจากไม่มีการคลุ้งของควันไฟ เนื่องจากควันไฟถูกบังคับให้ลอยขึ้นสู่ที่สูงในรัศมีที่เกินจากศีรษะ แต่ต้องปรับหลังคาจากทรงหงายให้เป็นทรงจั่ว เพื่อให้ควันไม่ไหลออกจากห้องอบผลิตภัณฑ์เร็วเกินไป เพราะจะเป็นสาเหตุให้เสียเชื้อเพลิงจำนวนมาก รวมทั้งเจาะตู้เพื่อให้สามารถใส่ถาดวางผลิตภัณฑ์ได้ในจำนวนที่มาก และนอกจากนี้การเจาะกระจก ทำให้ผู้อบสามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ภายใน โดยไม่ต้องเปิดตู้มาตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์จากตู้แบบ B สามารถรองรับการอบผลิตภัณฑ์ได้มากถึงครั้งละประมาณ 40 ใบ และลดเวลาในการอบลงกว่าเท่าตัว สำหรับตู้อบผลิตภัณฑ์แบบ C เมื่อพัฒนารูปทรงให้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ และปิดรอยรั่วของควันบริเวณขอบตู้ที่ซีนไม่แน่น รวมทั้งต่อท่อเพื่อให้ควันไฟลอยขึ้นในระดับเหนือศีรษะผู้อบ ทำให้ให้งานได้พอเหมาะ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความละเอียด โดยสามารถลดเวลาการอบและเพิ่มจำนวนการอบได้ครั้งละ 2 ใบ

              3. การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ดำเนินการโดยโดยตัวแทนกลุ่มสตรีจักสานที่ร่วมพัฒนาตู้อบผลิตภัณฑ์กับนักวิจัย และโดยชีวิตประจำวันเป็นผู้อบผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว โดยถ่ายทอด ให้กับสมาชิกในกลุ่มของชุมชนที่มีอยู่ จำนวน 6 กลุ่ม จำนวน 202 คน และได้ดำเนินการส่งมอบตู้อบผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนโดยกำนันสุรินทร์ นิลเลิศ และนายอำเภอปัญญา คำพรเหลือ นายอำเภอโพธิ์ทอง เป็นผู้รับมอบ พร้อมกันนี้ได้สาธิตการใช้ตู้อบโดยความร่วมมือกับตัวแทนชุมชนในงาน กระท้อนหวาน จักสานดัง รวมพลังสุดยอด OTOP” โพธิ์ทอง ในวันที่ 23-25 มิถุนายน 2549 โดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2549 ภายในงานมีผู้เข้าชมการสาธิต ที่เป็นประชาชนทั่วไป บุคลากรจากกองค์กรภาครัฐ และกลุ่มสตรีจักสานในเขตพื้นที่อำเภอโพธิ์ทอง ได้แก่ กลุ่มสตรีจักสาน หมู่ที่1 และหมู่ที่ 2 บ้านห้วยลิงตก หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 บ้านโพธิราษฎร หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 บ้านบ้านสร้าง หมู่ที่ 7 บ้านสามเรือน และหมู่ที่ 8 บ้านยางทอง และพื้นที่ที่ตั้งอยู่รายรอบชุมชน และเครือข่ายต่างๆ คือ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งสิ้นประมาณ 500 คน

               4. การประเมินผล พบว่า แม้ว่า ผู้อบผลิตภัณฑ์หลายคนสามารถใช้งานได้ดี แต่ยังมีบ้างที่ยังมีข้อจำกัดในการใช้ สาเหตุเนื่องจากยังไม่คุ้นเคยกับตู้ที่พัฒนาขึ้น โดยคิดว่าเป็นตู้ที่ดีจึงไม่ได้ตรวจดูผลิตภัณฑ์ระหว่างการอบ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไหม้ เมื่อเกิดปัญหาจึงคิดว่าอบแบบเดิมดีกว่า อย่างไรก็ตามนักวิจัยและสมาชิกได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปว่าผู้ใช้ต้องสรุปบทเรียนและเรียนรู้การใช้ รวมทั้งผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจต้องขยายความรู้ไปยังสมาชิกคนอื่น ๆ


 

วรรณดี สุทธินรากร1 และ สิงห์ อินทรชูโต2
1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2942-8629 ต่อ 622 โทรสาร 02-940-6455