คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามสภาวะเศรษฐกิจพอเพียงของครอบครัวเกษตรกร
ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง
Sufficiency Economy of Farming Families and Aging Quality of Life
in the Area of the Royal Project Development Centers

           โครงการวิจัยเรื่อง คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามสภาวะเศรษฐกิจพอเพียงของครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เป็นโครงการ 1 ใน 7 ของชุดโครงการวิจัยเรื่องโครงการนำร่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ของมูลนิธิโครงการหลวง ทำการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม 2545 ถึงเดือน มีนาคม 2546 โดยการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้สูงอายุชาวไทยภูเขาอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13 ชนเผ่า ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ฯ แม่ปูนหลวง ศูนย์ฯ ทุ่งเริง ศูนย์ฯ หมอกจ๋าม ศูนย์ฯ หนองเขียว และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จำนวน 107 คน พบว่า สภาวะเศรษฐกิจพอเพียงของครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงในเรื่อง ความสามารถผลิตและจัดหาที่อยู่อาศัย อาหารน้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งการบำบัดรักษาโรคอยู่ในระดับสูง สำหรับความสามารถในการมีอาชีพที่มีรายได้พอเพียงกับการจัดหาทรัพยากรอื่นๆ ที่ใช้เงินและสภาวะหนี้สินที่สามารถชำระคืนได้อยู่ในระดับปานกลาง การศึกษายังพบว่า คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุชาวไทยภูเขา 13 เผ่า มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแยกตามเผ่า ปรากฏผลดังนี้คือ เผ่าที่มีคุณภาพชีวิตสูงสุด คือ ลัวะ และเย้า เผ่าที่มีคุณภาพชีวิตต่ำสุด คือ อาข่า และจีนฮ่อ

ผลการวิจัยเชิงปริมาณ
           การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้สูงอายุตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่พัฒนามูลนิธิโครงการหลวงโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์มูลนิธิโครงการหลวง นำเสนอผลวิจัยดังนี้
Aging Quality of Life by Hilltribe


          จากภาพพบว่า เผ่าที่มีระดับคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูงสุด คือ ลัวะ คะฉิ่น กะเหรี่ยง รองลงมา คือ ไทยใหญ่ ไทยลื้อ และคนเมือง ต่ำสุด คือ อาข่า และจีนฮ่อ

           ผลการศึกษาเฉพาะกลุ่มตัวอย่างของผู้สูงอายุชาวไทยภูเขาทั้ง 13 เผ่า พบว่ามีสภาวะเศรษฐกิจพอเพียงของครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงมีความสามารถระดับสูงในการผลิตหรือจัดหาที่อยู่อาศัยที่แข็งแรงพอเพียงกับจำนวนสมาชิกในครัวเรือน การจัดหาเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ผ้าในบ้านเรือนพอเพียงกับสภาพอากาศในฤดูกาลต่างๆ การมีอาหารและน้ำดื่มพอเพียงตลอดปี ตลอดจนการมีปัจจัยที่บำบัดรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สำหรับความสามารถในการมีอาชีพที่มีรายได้พอเพียงกับการจัดหาทรัพยากรอื่นๆ ที่ใช้เงินและสภาวะหนี้สินที่สามารถชำระคืนได้อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีอายุในช่วง 60-69 ปี

           คุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาทั้ง 13 เผ่าในภาพรวม พบว่า ลัวะ คะฉิ่น กะเหรี่ยง เย้ามีคะแนนสูงที่สุด คือในระดับ 3 ขณะที่ต่ำสุดคือ อาข่าและจีนฮ่อ ไม่ว่าด้านของที่อยู่อาศัย ในแง่ปริมาณ ความเพียงพอ ความพึงพอใจ ด้านของปัจจัยอาหาร ในแง่ปริมาณ ความเพียงพอ ความพึงพอใจ ด้านของปัจจัยเครื่องนุ่งห่ม ในแง่ปริมาณ ความเพียงพอ ความพึงพอใจ ด้านของยารักษาโรค ในแง่ปริมาณ ความเพียงพอ ความพึงพอใจ ด้านของความมั่นคงปลอดภัย ในแง่ปริมาณ ความเพียงพอ ความพึงพอใจ ด้านของความรักความเป็นเจ้าของ ในแง่ปริมาณ ความเพียงพอ ความพึงพอใจ ด้านของการยอมรับ ในแง่ปริมาณ ความเพียงพอ ความพึงพอใจ ด้านของการบรรลุศักยภาพแห่งตน ในแง่ปริมาณ ความเพียงพอ ความพึงพอใจ โดยที่ความพึงพอใจทางกายสูงสุด คือ เย้า รองลงมา คือคะฉิ่น ไทยใหญ่ ไทลื้อ ต่ำสุด คือ อาข่าและปะหล่อง ความพึงพอใจทางจิตสูงสุด คือ ลัวะ ไทยใหญ่ เย้า ต่ำสุด คือ จีนฮ่อ จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า ถ้าความพึงพอใจของกายได้รับการตอบสนอง สุขภาพจิตโดยรวมก็จะมีคะแนนดีตามไปด้วย ดังตามหลักของ Maslow (Maslow, 1954) ที่ต้องผ่านตามขั้นต่างของความต้องการ และเชื่อว่าสุขภาพกายและสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กัน (ทิพวรรณ, 2542) และดังคำกล่าวอัจฉรา และ ขจีจรัส (2532) กล่าวว่า ความต้องการด้านร่างกายและจิตใจทั้ง 5 ระดับ เป็นความต้องการที่มีผลต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต บุคคลที่มีสุขภาพที่ดีบุคคลจะมีความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตและความรู้สึกพึงพอใจนั้นจะเป็นสื่อให้บุคคลประเมินความมีคุณภาพชีวิตของตนเองได้ ซึ่งคุณภาพชีวิตของบุคคล ก็คือ “ความพึงพอใจของบุคคล ที่เกิดจากการได้รับการตอบสนองต่อสิ่งที่ต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสภาวะแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเพียงพอ จนก่อให้เกิดความมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี” (อัจฉราและขจีจรัส, 2543) และจากการศึกษาของ อัจฉราและขจีจรัส (2534) ความพึงพอใจเป็นตัวแปรกลางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ดังนั้นอาจกล่าวสรุปได้ว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวไทยภูเขาส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการที่สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีไปพร้อมกันด้วยดังกลุ่มของชาวลัวะ และเย้า

ทิพวรรณ ดวงปัญญา
ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์