การตรวจสอบธาตุอาหารในดินเพื่อการผลิตพืชอย่างยั่งยืน

          โครงการมีเป้าหมายให้เกษตรกรกล้าคิด กล้าทดลอง แก้ปัญหาเป็น และคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้เกษตรกรคิดพึ่งตนเอง เรียนรู้และเข้าใจเรื่องต้นทุน ระมัดระวังทั้งต้นทุนชีวิตและต้นทุนอาชีพ แล้วจึงฝึกให้เกษตรกรจำแนกชุดดินและวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืชด้วยชุดตรวจสอบ NPK และใส่ปุ๋ยโดยใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการใช้ปุ๋ยในอัตราที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด

          โครงการนี้นับเป็นนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตรที่ครบวงจร กล่าวคือ 1. ได้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ 2.ได้ Software ที่สามารถทำนายผลจากการใช้ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำ และ 3. เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีได้ด้วยตนเอง

          ในปี 2545-2547 FAO ได้ให้ความสนับสนุน เพื่อการขยายผลการวิจัยของโครงการนี้กับรัฐบาลไทย โดยได้คัดเลือกเกษตรกรผู้นำ 67 คน และนักส่งเสริมการเกษตร 26 คน เกษตรกรผู้นำเหล่านั้นได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปสู่เกษตรกรรวมทั้งหมด 629 คนในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี นครสวรรค์ และนครราชสีมา ปรากฏว่าเกษตรกรจำนวน 338 คน ได้ปลูกข้าวโพดโดยใช้เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ และได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้น 23-42% ขณะที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกัน ทำให้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 89-366 % ยกเว้นจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีความผิดพลาดในการใช้เทคโนโลยี ผลตอบแทนของแปลงเกษตรกรมีแนวโน้มสูงกว่าแปลงที่มีการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าถึงแม้เทคโนโลยีจะดี แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดผลดีต่อผู้ใช้

          คณะนักวิจัยได้พัฒนาคำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับข้าวโพดในแหล่งผลิตหลักรวม 19 จังหวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยเคมีสำหรับข้าวในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง จากผลการวิจัยโดยให้ชาวนาในเขตชลประทานทำแปลงทดสอบและแปลงสาธิต พบว่า การใช้ปุ๋ย 7-3-0กก.  N-P2O5-K2O/ไร่ ให้ผลผลิตข้าวไม่แตกต่างจาก 16-6-0 กก.N-P2O5-K2O/ไร่ ซึ่งเป็นอัตราปุ๋ยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ถือปฏิบัติอยู่ จึงพอประเมินได้ว่า ถ้าชาวนาในเขตชลประทาน 6 จังหวัด คือ ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา และนครปฐม รวมพื้นที่ปลูกข้าว 5,056,976 ไร่ ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ จะประหยัดเงินค่าปุ๋ยได้ถึงปีละ 4 ,396 ล้านบาท ขณะที่รายได้จะเพิ่มขึ้น 6,190 ล้านบาท

          แนวคิดของโครงการนี้แตกต่างจากงานวิจัยในอดีต คือ 1. เน้นการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรผู้นำ 2. เกษตรกรผู้นำมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย และ 3. เกษตรกรผู้นำเป็นกลไกลหลักในการขยายผลการวิจัย ปรากฏว่า เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดจำนวนหนึ่งสามารถปลดภาระหนี้สินได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาต่อในโครงการวิจัยกับข้าวและอ้อย โดยสร้างเกษตรกรผู้นำให้ทำการวิจัยในไร่นาของตนเอง ขณะที่นักวิชาการในท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ได้เห็นพัฒนาการเชิงพฤติกรรมของเกษตรกรผู้นำ คือมีการจดบันทึกข้อมูลครอบครัว พยายามลดต้นทุนการผลิต และมีแนวคิดขยายผลเรื่องการพึ่งตนเองไปสู่เพื่อนบ้าน ภาพที่ 1 เป็นแปลงสาธิตของนางสำริด บุญเปี่ยม เกษตรกรจากจังหวัดพิษณุโลก จะเห็นได้ว่าเกษตรกรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (แปลงสาธิต) ประหยัดค่าปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ และมีแมลงเข้าทำลายน้อยกว่าแปลงเกษตรกร (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1  ผลการทดลองระหว่างแปลงสาธิตกับแปลงเกษตรกร
  
แปลงสาธิต
แปลงเกษตรกร
ผลผลิต
807 กก.ต่อไร่
799 กก.ต่อไร่
เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้
3-4 ถังต่อไร่
2 ถังต่อไร่
ต้นทุนการใช้ปุ๋ย
187 บาท/ไร่
580 บาท/ไร่
จำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
น้อยกว่า
มากกว่า
ลักษณะอื่นๆ
ปกติ
พบลักษณะขอบใบแห้ง


ภาพที่ 1 แปลงสาธิตของนางสำริด บุญเปี่ยม ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
17 สิงหาคม 2549

ทัศนีย์ อัตตะนันทน์  ชัยฤกษ์ สุวรรณรัตน์  ประทีป วีระพัฒนนิรันดร  บุรี บุญสมภพพันธ์  ทวีศักดิ์ เวียรศิลป  สหัสชัย คงทน  หริ่ง มีสวัสดิ์  
ประดิษฐ์ บุญอำพล  กู้เกียรติ สร้อยทอง  อรุณี เจริญศักดิ์ศิริ  ณรงค์ วุฒิวรรณ   ชัญญา ทิพานุกะ  อานันท์ ผลวัฒนะ  เฉลิมชาติ ฤาไชยคาม  
ไพลิน รัตน์จันทร  และ นิวัฒน์ นภีรงค์
ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์