คลีนิกสมุนไพรกำจัดเห็บ หมัด เหา และรักษาโรคผิวหนังสุนัข แมว

          

          เห็บทุกตัวเมื่อดูดกินเลือดสุนัขได้ประมาณ 4-5 วันแล้ว จะปล่อยตัวลงพื้นเมื่อสุนัขนอนหลับ คลานหาซอกมุม เพื่อไปลอกคราบ ส่วนเห็บตัวแก่จะปล่อยตัวลงพื้นเพื่อวางไข่(ประมาณ 2,000 ฟองต่อตัว) และในอีก 3 สัปดาห์ ไข่เหล่านั้นจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ดังนั้นการกำจัดเห็บให้มีประสิทธิภาพจะต้องกำจัดที่พื้นด้วย เพราะจะให้ผลเร็วกว่าการพ่น,หยดหรือฉีดบนตัวสุนัขเพียงอย่างเดียว
          
          สามารถทำได้โดยโดยใช้สารสกัดสมุนไพร (เคยูเนเจอรัลเอ็กโตไซด์ ซึ่งฆ่าเห็บหมัดเหาได้ทุกวัย) พ่นตามขอบที่พื้นชนกับผนังและซอกมุมบริเวณที่สุนัขนอนหลับ ทุกสัปดาห์ติดต่อกัน 6-8 สัปดาห์ เพื่อฆ่าไข่ ฆ่าเห็บตัวอ่อน เห็บตัวกลาง และเห็บตัวแก่ โดยไม่ต้องรอให้เห็บจากพื้นขึ้นมาดูดกินเลือดสุนัขที่มียาหยดหรือยาฉีดฆ่าเห็บหมัดอยู่ก่อนแล้วถึงจะตาย ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเห็บมีพยาธิเม็ดเลือดก็จะปล่อยพยาธิให้แก่สุนัขในขณะดูดเลือดด้วย และถ้าเห็บขึ้นมาดูดเลือดเมื่อยาถูกกำจัดออกจากร่างกายหมดแล้ว เห็บก็จะไม่ตายอีกเช่นกัน
         
          ส่วนหมัดจะลงมาไข่ที่บริเวณพื้นที่สุนัขและแมวนอน แล้วเจริญเป็นตัวหนอน และดักแด้ ที่พื้น ดังนั้นการกำจัดที่พื้นจะฆ่าหมัดได้จำนวนมากกว่าที่จะรอไล่พ่นหมัดตัวเต็มวัยบนตัวสัตว์ ส่วนเหานั้นจะไข่ติดอยู่ที่ขนของสุนัขและแมวและฟักออกมาบนตัวสัตว์ ดังนั้นการกำจัดเหาทำได้โดยการพ่นบนตัวสัตว์
          
         โรคผิวหนังในสุนัขและแมวที่ทำให้สุนัขและแมว คัน,เกา แล้วขนร่วง หรือเกา,กัดจนผิวหนังเป็นแผล มีได้จากหลายสาเหตุแต่ที่พบบ่อยในปัจจุบันคือ เชื้อรา เชื้อยีสต์ และตัวไรขี้เรื้อน ซึ่งเจ้าของต้องนำสุนัขและแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิฉัยโรคและให้การรักษาดูแลที่ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจจะไม่หายหรือกลับมาเป็นใหม่ได้ ถ้าไม่จัดการเปลี่ยนวิธีการดูแลสุนัข,เปลี่ยนที่นอนประจำของสุนัขและเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้สุนัขและแมวสัมผัสกับเชื้อรา เชื้อยีสต์อีก และหากปล่อยให้ไปเล่นกับสุนัขที่เป็นไรขี้เรื้อน หรือติดจากแบตเตอเรียนตัดขนที่เคยตัดขนสุนัขที่เป็นไรขี้เรื้อนมาก่อน ตัวไรแก่ที่อยู่บนผิวหนังก็จะมาติดสุนัขเราได้ รักษาได้โดยการทาโลชั่นสมุนไพร เคยูไมติไซด์ สัปดาห์ละ 2 ครั้งติดต่อกัน 1-2 เดือน ถ้าเป็นตัวไรขี้เรื้อนเปียก ไข่ซึ่งวางไว้ลึกถึงรากขน จะฟักขึ้นมาใหม่อีก ต้องทาโลชั่นสมุนไพรซ้ำอีก 3-4 รอบ จนกว่าไข่ที่วางไว้จะฟักขึ้นมาเป็นตัวขี้เรื้อนและโดนโลชั่นตายหมด ส่วนโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อยีสต์นั้น ให้ใช้สารสกัดจากทองพันชั่ง หรือน้ำมันตะไคร้หอม เช็ดทาผิวหนังที่เป็นโรคให้ทั่วถึง วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 1-2 เดือน ก็หายได้
ลักษณะของโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เชื้อยีสต์ และตัวไรขี้เรื้อน ที่เจ้าของสัตว์พอสังเกตแยกได้มีดังนี้
        
          โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อยีสต์ ที่พบบ่อยเกิดจากเชื้อ พวกมาลาสซีเซีย พาชิเดอมาติส ซึ่งมักจะพบเชื้อเป็นขุยหรือแผ่นเปียกสีครีมติดขนและผิวหนัง ที่ด้านในใบหูเป็นส่วนใหญ่ (รูป 1) แล้วจึงลุกลามมาที่คอ หัวไหล่ ด้านหน้าข้อศอกและขาหน้า ด้านบนฝ่าเท้าและโคนเล็บ ถ้าทิ้งไว้นานจะลุกลามมาถึงตะโพก ด้านหลังข้อหัวเข่า ด้านหน้าข้อเท้าหลัง และด้านบนฝ่าเท้าหลัง จนทั่วทั้งตัว เชื้อจะติดผิวหนังแทรกอยู่ระหว่างขนโดยขนไม่ร่วงหายไป
        

 
รูปที่ 1
รูปที่ 2

          โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา มี 2 กลุ่มคือ กลุ่มเชื้อราที่ก่อโรค และกลุ่มเชื้อราที่ฉวยโอกาส เชื้อราที่ก่อโรคเช่น เชื้อไมโครสปอรัม เคนิส ,เชื้อไมโครสปอรัม จิบเซียม ,เชื้อไตรโครไฟตัน เมนตาโกรไฟท์ ซึ่งเมื่อติดบนผิวหนัง จะเจริญลุกลามเป็นวงกลม ขนจะร่วงเป็นวงกลม (รูป 2) และผิวหนังที่ขอบวง จะแดง เนื่องจากเชื้อราเหล่านี้จะเจริญขยายออกรอบทิศเป็นรัศมี ส่วนเชื้อราฉวยโอกาสที่พบบ่อย เช่น เชื้อเคอวูลาเรีย ,เชื้อแอสเปอจิรัส ขนจะร่วงเห็นผิวหนังเป็นหย่อมๆ มักไม่เป็นวงกลมเด่นชัด (รูป 3)

 
รูปที่ 3
รูปที่ 4


สาเหตุเริ่มต้นของการติดเชื้อราฉวยโอกาส และเชื้อยีสต์ อาจเนื่องจาก
          1. ในเวลาอาบน้ำสุนัข เจ้าของสุนัขไม่ได้ฟอกล้างไขมันด้านในใบหูออกด้วยแชมพู เพราะกลัวน้ำจะเข้าหูสุนัข ไขมันที่ใบหูที่เปียกน้ำจะทำให้เชื้อยีสต์จากสิ่งแวดล้อมมาติดใบหูและเจริญเพิ่มจำนวนมากขึ้นบนผิวหนังและขน ทำให้ร่างกายสร้างสารต่อต้านเชื้อ ผิวหนังจึงแดงและคัน
          2. เจ้าของสุนัขมักใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดขน เช็ดตัวให้สุนัข หรือผ้าชุบเดทตอลเช็ดตัว แทนที่จะใช้แชมพูอาบน้ำให้สุนัขเลย ทำให้ไขมันบนตัวสุนัขเปียกน้ำ เป็นต้นเหตุให้เชื้อรา เชื้อยีสต์ จากสิ่งแวดล้อมที่ติดอยู่ที่ขนหรือปลิวมาติด เจริญเพิ่มจำนวนมากขึ้นบนผิวหนัง
          3. เจ้าของสุนัขใช้แชมพูมาผสมน้ำเจือจางก่อนที่จะมาฟอกตัวสุนัข ทำให้ความเข้มข้นของแชมพูไม่เพียงพอที่จะล้างไขมันที่ขนและผิวหนังออก หรือล้างได้เฉพาะที่ขน ไม่เพียงพอที่จะล้างไขมันที่ผิวหนังออก ซึ่งจะพบได้มากในสุนัขขนเส้นเล็กยาวและแน่น เช่น พันธุ์พูลเดิ้ล ,ชิทสุ ,ไซบีเรียน และโกลเด้นรีทริพเวอร์
          4. เจ้าของสุนัข ทำความสะอาดที่นอนสุนัขเพียงแค่กวาดและถูด้วยผ้าเปียกน้ำ ไม่ได้ใช้น้ำยาที่สามารถล้างไขมันจากตัวสุนัขที่ติดพื้นนอนและข้างฝาผนังออกได้ ซึ่งไขมันจากตัวสุนัขที่ติดพื้นนอนและข้างฝาผนังนี้ เมื่อเปียกน้ำจะเป็นสภาพที่เหมาะสมให้เชื้อราและยีสต์ เจริญเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งจะพบได้บ่อยในสุนัขขนสั้นที่มีไขมันตัวมากเช่น พันธุ์ปัค, พันธุ์มิเนียเจอร์พินเชอร์ และพันธุ์บลูด๊อก
         
          โรคผิวหนังที่เกิดจากตัวไรขี้เรื้อน มี 3 ชนิด คือ ไรขี้เรื้อนสเคบี่หรือขี้เรื้อนแห้ง ,ไรขี้เรื้อนดีโมเดคหรือขี้เรื้อนเปียก และไรขี้เรื้อนเชลีเทลล่า ตัวไรทั้ง 3 ชนิดนี้ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศท์จึงจะเห็น แต่เจ้าของสัตว์พอจะสังเกตแยกชนิดได้ดังนี้ ถ้าเกิดจากไรขี้เรื้อนสเคบี่ ขนจะร่วงที่ขอบปลายใบหูก่อน บางตัวเป็นมากจะเห็นรังแคเกาะจับกันหนา (รูป 4) เมื่อจับที่ปลายใบหูที่มีรังแคแล้วบี้ สุนัขจะยกขาหลังเกาเพราะคัน เนื่องจากตัวไรวิ่งหนีลงรูที่ผิวหนังชั้นนอก ตัวไรจะเพิ่มจำนวนบนผิวหนัง ลุกลามลงมาที่คอ หน้าอก รักแร้ ปลายหางและขา ถ้าทิ้งไว้นานจะกระจายทั้งตัว ตัวมีกลิ่นเหม็นสาบ ทุกบริเวณที่ตัวไรอยู่จะมีรังแคแห้งเกาะอยู่ ซึ่งต่างจากเชื้อยีสต์ที่รังแคจะมีสีครีมเปียก ถ้าเกิดจากตัวไรขี้เรื้อนเปียกดีโมเดค ผิวหนังจะเป็นตุ่มขนอักเสบคล้ายหัวสิว (รูป 5) โคนขนจะอักเสบ เนื่องจากตัวไรลงไปวางไข่ที่รากขน จึงนำเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังลงไปที่รากขน ทำให้รากขนอักเสบบวมนูนช้ำเลือดช้ำหนอง มักจะเกิดที่หัวและแก้มก่อน แล้วจึงจะลุกลามมาที่คอ ขาหน้า ขาหลัง ฝ่าเท้าและซอกนิ้ว ซึ่งบริเวณที่เป็นทั้งหมดจะเป็นบริเวณที่หนังหนา ถ้าทิ้งไว้นานก็จะเป็นทั้งตัว ส่วนกรณีที่เกิดจากตัวไรขี้เรื้อนเชลีเทลล่า จะพบได้น้อย โดยตัวไรจะกัดผิวหนังเป็นจุดขยายกว้างเป็นวงกลม สุนัขจะคันแล้วใช้ปากกัด จนผิวหนังเป็นแผลวงกลม มักจะเกิดตามลำตัว แก้ม หัวและคอ (รูป 6)

 
รูปที่ 5
รูปที่ 6


ณรงค์ จึงสมานญาติ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์
โทร 081-857-5711