ในปัจจุบันการใช้วัสดุทดแทนและซ่อมแซมฟัน
(restorative dental materials) ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อกระบวนการทางทันตกรรม
เนื่องจากวัสดุเหล่านี้ควรเป็นวัสดุที่แข็งแรง (strong) และพร้อมทั้งสวยงาม
(aesthetic) ความสวยงามในแง่ของทันตกรรมหมายถึง มีสีเหมือนฟันธรรมชาติ
และความแข็งแรงโดยสามารถทนต่อการเสียดสี (wear resistance) มีความนำไฟฟ้าต่ำ
(low thermal conductivity) อายุการใช้งานยาวนาน (long lasting) และสามารถเข้ากันได้กับร่างกายของมนุษย์
(biocompatible) เซรามิกส์เป็นวัสดุที่มีสมบัติดังกล่าวครบถ้วน ต่อมามีการพัฒนาเซรามิกส์ชนิดกลาสเซรามิกส์
(glass-ceramics) ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์
ไอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม เป็นต้น เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถพัฒนาให้มีความแข็งแรงสูง
ทนต่อการเสียดสี สามารถเข้ากับร่างกายมนุษย์ ไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีโดยเฉพาะสารเคมีภายในปาก
มีความแข็ง (hardness) ลดลง และใกล้เคียงกับความแข็งของฟันธรรมชาติมากขึ้น
ทำให้สามารถกรอตกแต่ง (machinable) ด้วยเครื่องมือทันตแพทย์และพัฒนากลาสเซรามิกส์เพื่อให้สามารถใช้ซ่อมแซมฟันชนิดเซรามิกส์ทั้งชิ้น
(all-ceramics restoration) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้สามารถใช้งานภายในประเทศ
เพื่อเป็นการลดการนำเข้าของวัสดุสำเร็จรูป และอาจสามารถพัฒนาต่อไปเพื่อจดสิทธิบัตรและส่งออกวัสดุเหล่านี้ในอนาคต
วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
- เพื่อพัฒนาวัสดุเซรามิกส์ชนิดกลาสเซรามิกส์ที่มีความแข็งแรงสูง
มีความแข็งใกล้เคียงกับฟันมนุษย์ และง่ายต่อการกรอตกแต่ง โดยใช้เครื่องมือทันตแพทย์ให้ได้สัดส่วนและขนาดตามต้องการ
- เพื่อพัฒนาให้กลาสเซรามิกส์นั้นเป็นวัสดุที่มีสมบัติเหมาะสมเพื่อใช้ในการซ่อมแซมหรือทดแทนฟัน
(restorative dental materials) ต่อไปในอนาคต
- เพื่อนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ภายในประเทศ
เป็นการลดการนำวัสดุสำเร็จรูปเข้าจากต่างประเทศต่อไปในอนาคต
|