การติดเชื้อและก่อโรคของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N1 ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย
Highly pathogenic avian influenza H5N1 in mammals, Thailand

          

          นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N1ในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในโลกประมาณ 55 ประเทศ (มกราคม 2550) พบการติดเชื้อและก่อโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้แก่ แมว ( Songserm et. al., 2006) เสือ (Thanawongnuwech et al., 2005) เสือลายเมฆ (Amonsin et al., 2006) สุนัข (Songserm et al., 2006) โดยทุกชนิดสัตว์มีประวัติการกินไก่หรือเป็ดที่ติดเชื้อด้วยเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในช่วงแรก ๆ ซึ่งมีซากสัตว์ปีกที่ตายด้วยโรคนี้จำนวนมาก หลังจากได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกโดยการกิน ภายใน 5-10 วันสัตว์เหล่านี้เริ่มแสดงอาการป่วย และตายในที่สุด โดยพบว่าสัตว์ในตระกูลแมว เช่น แมวและเสือ มีความไวต่อการป่วย และตายค่อนข้างสูง ส่วนในสุนัขการติดเชื้ออาจไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยหนัก หรือตายทุกราย แต่สามารถพิสูจน์การติดเชื้อได้ โดยมีระดับภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อเชื้อไข้หวัดนกชนิดนี้ ในเวลาต่อมา อาการป่วยที่สำคัญในสัตว์เหล่านี้ที่เด่นชัด คือ มีไข้สูงมาก (มากกว่า 39 องศาเซลเซียส) ซึม หายใจลำบาก สำหรับแมวและเสื อ มักจะมีอาการทางประสาทเช่น อาการชัก ก่อนตาย ร่วมด้วย ซี่งอาการทางประสาทนี้ยังไม่พบในสุนัขที่ได้รับเชื้อ ลักษณะภายนอกอาจเห็นสัตว์มีเลือดไหลออกจากจมูกก่อนตาย จากการตรวจซากสัตว์ที่ตายส่วนใหญ่พบการอักเสบของปอดรุนแรง โดยอาจมีของเหลวท่วมปอดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ พบเนื้อตายที่ กล้ามเนื้อหัวใจ ตับ ไต นอกจากนี้พบการอักเสบในอวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอักเสบของสมอง สามาถบ่งชี้แอนติเจนของเชื้อไข้หวัดนกในอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น สมอง ปอด ตับ ไต ฯลฯ ด้วยวิธีทางอิมมูนโนฮีสโต (Immunohistochemistry) (รูปที่ 1A-1D)โดยเหตุที่สัตว์ที่เลี้ยงเป็นเพื่อนใกล้ชิดกับมนุษย์ เช่นสุนัขและแมว สามารถติดเชื้อไข้หวัดนกได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่ามนุษย์จะติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์เหล่านี้ ซึ่งยังไม่มีรายงานการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นในโลก (มกราคม 2550) อย่างไรก็ตามเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรดูแลเอาใจใส่ต่อสัตว์เลี้ยงของตนและปรึกษาสัตวแพทย์เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น

สามารถติดตามรายละเอียดได้จาก:
Songserm T., Amonsin A., Jam-On R., Sae-Heng N., Meemak N., Paryuothorn N., Payungporn S., Theamboonlers A., and Poovorawan Y. Avian influenza H5N1 in naturally infected domestic cat. Emerging Infectious. Dieases. 2006 April 12(4): 681-683.

Amonsin A, Payungporn S, Theamboonlers A, Thanawongnuwech R, Suradhat S, Pariyothorn N, Tantilertcharoen R, Damrongwantanapokin S, Buranathai C, Chaisingh A, Songserm T, Poovorawan Y. Genetic characterization of H5N1 influenza A viruses isolated from zoo tigers in Thailand. Virology. 2006 Jan 20; 344 (2): 480-91.

Thanawongnuwech R, Amonsin A, Tantilertcharoen R, Damrongwatanapokin S, Theamboonlers A, Payungporn S, Nanthapornphiphat K, Ratanamungklanon S, Tunak E, Songserm T, Vivatthanavanich V, Lekdumrongsak T, Kesdangsakonwut S, Tunhikorn S, Poovorawan Y. Probable tiger-to-tiger transmission of avian influenza H5N1. Emerging Infectious Diseases. 2005 May;11(5): 699-701.

Songserm T., Amonsin A., Jam-On R., Sae-Heng N., Paryuothorn N., Payungporn S., Theamboonlers A., and Poovorawan Y. Fatal HPAI H5N1 natural infection in a dog. Emerging Infectious Diseases 2006. November, 12 (11): 1744-1747.

คำอธิบายรูปภาพ
รูปที่ 1A ปอดของสุนัขที่ติดเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N1 จากการกินซากเป็ดไล่ทุ่งที่ตายด้วยไข้หวัดนกชนิดเดียวกัน พบการอักเสบที่ปอดอย่างรุนแรง
รูปที่ 1B ลักษณะของปอดอักเสบที่มองเห็นภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 40 เท่า พบการอักเสบของเนื้อปอดและการบวมน้ำ
รูปที่ 1C จุดเนื้อตายภายในตับที่มองเห็นภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 40 เท่า ซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วตับ
รูปที่ 1D การตรวจหาแอนติเจนหรือโปรตีน nucleoprotein (NP) ของเชื้อไข้หวัดนก ด้วยวิธี อิมมูนโนฮีสโต (Immunohistochemistry) ในเนื้อเยื่อตับของสุนัขที่ป่วยและตายด้วยเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N1

 

ทวีศักดิ์ ส่งเสริม
ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตว-แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
โทร. 034-351901