สตรอเบอรี : พันธุ์พระราชทาน 60
“Prarachatan 60” Strawberry”

ชนิดพืช                         สตรอเบอรี (Strawberry : Fragaria x ananassa Duch.)
ชื่อพันธุ์/สายพันธุ์           พระราชทาน 60 (Pharachatan 60)

แหล่งที่มาและประวัติของพันธุ์

           สตรอเบอรีพันธุ์ พระราชทาน 60 หรือ รหัส 003-00 ได้ถูกคัดเลือกครั้งแรกใน ฤดูกาลผลิตปี พ.ศ. 2544/2545 ที่แปลงทดลองของสถานีวิจัยดอยปุย (พิกัดที่ตั้ง 18° 48’ 39’’ N, 98° 53’ 5’’ E สังกัดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ Rosa Linda และ Tochiotome ในปี พ.ศ. 2543 ตามโปรแกรมการผสมพันธุ์ของโครงการวิจัย การผสมพันธุ์และคัดเลือกสตรอเบอรี (รหัสโครงการที่ 3025 - 3038 ระหว่างปี พ.ศ. 2541 - 2545 งบประมาณวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง) สำหรับต้นแม่พันธุ์ Rosa Linda นั้นเป็นสตรอเบอรีจาก Florida Agricultural Experiment Station มีศักยภาพของการให้ผลผลิตที่เร็วในต้นฤดู ผลขนาดใหญ่ เนื้อผลสีแดงสด และมีรูปทรงของผลเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วไป ส่วนต้นพ่อพันธุ์ Tochiotome นั้นได้มีการแนะนำและเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2538 โดยโปรแกรมการผสมพันธุ์สตรอเบอรีของ Tochigi Prefectural Agricultural Experiment Station ซึ่งมีคุณสมบัติที่ให้ผลผลิตสูง ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อแข็ง และรสชาติหวานมาก ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์อันดับหนึ่งที่เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นนิยมปลูกกันเป็นการค้าสำหรับรับประทานผลสด

           ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา สตรอเบอรีพันธุ์ พระราชทาน 60 ก็ได้ถูก ขยายต้นพันธุ์โดยวิธีผลิตต้นไหลแบบธรรมดาและการเพาะเลี้ยงต้นเนื้อเยื่อปลอดโรค เพื่อใช้ปลูกทดสอบในพื้นที่ระดับความสูงต่างๆกันตามศูนย์/สถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพิ่มเติมทางด้านการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต คุณภาพของผลผลิตและรสชาติที่พึงพอใจด้วยการใช้วิธีสุ่มจากตัวแทนผู้บริโภค ความทนทานต่อศัตรูพืช รวมทั้งการผลิตไหลและต้นไหลสำหรับการขยายต้นพันธุ์ให้แก่เกษตรกรในช่วงเวลานับจากนี้

ลักษณะอื่นๆ

           จัดเป็นสตรอเบอรีประเภทวันสั้น (Short day type) และต้องการความหนาวเย็นปานกลาง (ประมาณ 15 – 18 °C) เป็นช่วงเวลา 30 - 40 วันสำหรับกระตุ้นให้เกิดการสร้างตาดอกของเนื้อเยื่อเจริญที่ปลายยอดของลำต้น ระยะเวลาจากดอกบานถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่ากับ 60 – 70 วัน ผลผลิตต่อต้นสูงสุด 385 กรัม หรือประมาณ 2 - 3 ตันต่อไร่ (คำนวณจากการปลูก 10,000 ต้นต่อไร่) เนื้อผลมีค่าเฉลี่ยของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (Total soluble solid) เท่ากับ 10.7 ° Brix ซึ่งสูงกว่าพันธุ์อื่นๆที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันของประเทศไทย (ยกเว้นพันธุ์พระราชทาน 72) และมีกลิ่นหอมชวนรับประทานคล้ายพันธุ์พระราชทาน 70 แต่เนื้อผลมีสีสรรสวยงามและความแน่นเนื้อมากกว่า การให้คะแนนของกรรมการทดสอบคุณภาพผลจากการทดลองชิม ปรากฏว่าได้คะแนนใกล้เคียงกันกับพันธุ์พระราชทาน 70 และ 72 แต่มากกว่าพันธุ์อื่นๆที่ใช้ทดสอบทั้งหมด 12 สายพันธุ์ การให้ไหลและต้นไหลอยู่ในระดับปานกลางเฉลี่ยราว 50 – 60 ต้นไหลต่อต้นแม่หนึ่งต้น

           นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถทนทานต่อโรคราแป้ง (Powdery Mildew) และรากเน่า (Root Rot) รวมทั้งพวกไรสองจุด (Two-spotted spider mite) หรือเพลี้ยอ่อน (Aphids) สามารถปลูกเป็นการค้าได้ตั้งแต่พื้นที่ที่มีความสูง 600 เมตรจากระดับน้ำทะเลเป็นต้นไป

           สตรอเบอรีสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้มีขนาดผลที่ใหญ่ รสชาติหวาน เนื้อในผลสีแดงสด ผิวแดงจัดเป็นเงามัน รูปทรงกรวยคล้ายหัวใจ กลิ่นหอม และผลผลิตต่อต้นค่อนข้างสูงซึ่งโดยรวมแล้วมีคุณสมบัติที่ดีเหมาะแก่การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อการค้าประเภทรับประทานผลสดที่ยังมีความต้องการของตลาดอีกมากทั้งภายในและต่างประเทศ แต่ประการสำคัญที่สุดคือ สายพันธุ์นี้เป็นสตรอเบอรีลูกผสมสายพันธุ์แรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยทางกรมวิชาการเกษตรได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 (ร.พ. 2) เลขที่ 276/2549 ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2549 ให้กับมูลนิธิโครงการหลวงด้วย

           ทางมูลนิธิโครงการหลวงโดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิฯได้ทรงประทานชื่อสตรอเบอรีสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า พระราชทาน 60 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2549 นี้


    

    

ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์1  เวช เต๋จ๊ะ1  กนกธร วงศ์กิติ2   สาวิตรี ทิวงศ์2  และ Hiroshi Akagi2
1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2มูลนิธิโครงการหลวง
โทร. 0-2579 -6959