ผลงานรางวัลนักวิจัยดีเด่นด้านสมุนไพร



 

          รศ.ดร. งามผ่อง คงคาทิพย์ เป็นนักวิจัยของม. เกษตรศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนักวิจัยตัวอย่าง (ด้านสมุนไพร) จากสมาคมพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย โดยเข้ารับประทานโล่ประกาศเกียรติคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในวันที่ 11 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นวันเปิดงานการประชุมสัมมนาวิชาการพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 1 “ เฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี “ ณ ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          รศ.ดร. งามผ่อง คงคาทิพย์ ได้เริ่มทำวิจัยทางด้านสมุนไพรตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากภูมิหลังของอาจารย์ที่คุณตาเป็นแพทย์แผนโบราณ คุณพ่อคุณแม่ เปิดร้านขายยาสมุนไพรไทย จึงทำให้อาจารย์รู้ถึงคุณค่าของสมุนไพรเป็นอย่างดี

          รศ.ดร. งามผ่อง คงคาทิพย์ และคณะผู้วิจัยในหน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ซึ่งมี รศ.ดร. บุญส่ง คงคาทิพย์ เป็นหัวหน้าหน่วยได้ทำการวิจัยสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคที่พบเห็นบ่อย ร้ายแรง และเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเอดส์ เป็นต้น จากการวิจัยสมุนไพรมาเป็นเวลา 35 ปี ได้ทำวิจัยสมุนไพรหลายชนิด และยังทำการสังเคราะห์สารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์และอนุพันธ์ เพื่อให้ได้สารที่ออกฤทธิ์สูงกว่า โดยขอสรุปผลงานวิจัย สมุนไพรบางชนิดที่ใช้เป็นอาหารเสริมในการรักษาโรคเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง และเอดส์ ดังนี้  

  1. บอระเพ็ด ( Tinospora criepa) ลำต้นที่มีอายุเกินสองปีขึ้นไป พบการออกฤทธ ิ์ดังนี้

    1.1 บำรุงหัวใจ โดยพบว่าสารสกัดลำต้นบอระเพ็ดด้วยคลอโรฟอร์ม และเอทานอลเพิ่มแรงแรงบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจโดยไม่เพิ่มอัตราการเต้นหัวใจ พบสารออกฤทธิ์ประเภทอัลคาลอยด์ 2 ชนิดเป็นสารเอกลักษณ์สำคัญในการวิเคราะห์คุณสมบัตินี้ เพื่อควบคุมคุณภาพบอระเพ็ด (กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร)

    1.2 ลดเบาหวาน เมื่อนำลำต้นบอระเพ็ดไปต้มเคี่ยวกับน้ำ จะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ พบสารออกฤทธ์ลดน้ำตาลในเลือด 3 ชนิดและได้นำชนิดที่ออกฤทธิ์ดีมาเป็นสารเอกลักษณ์สำคัญในการวิเคราะห์สมุนไพรนี้ว่าจะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหรือไม่ (ด้วยวิธี HPLC) เนื่องจากพบว่าบอระเพ็ดแต่ละแหล่งออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดต่างกัน แหล่งบอระเพ็ดที่ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ดีคือ สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ พิจิตรในขณะที่บอระเพ็ดจากจังหวัดสระแก้วไม่ออกฤทธิ์ (กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรขบวนการแยกสารออกฤทธิ์ฯ นี้ และใช้สารนี้เป็น marker ในการควบคุมคุณภาพของบอระเพ็ด) และได้ทำการทดสอบพิษเรื้อรังของบอระเพ็ดพบว่า ถ้ารับประทานบอระเพ็ดแห้ง วันละไม่เกิน 500 มิลลิกรัมจะไม่มีพิษแต่อย่างใด (ในขณะที่ขนาด 500 มิลลิกรัมที่ควบคุมคุณภาพแล้วนี้สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ดี )

    1.3 ยับยั้งเชื้อเอดส์ พบสาร 2 ชนิดในลำต้นบอระเพ็ดที่สามารถยับยั้งเชื้อเอดส์ได้ (กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร)

    1.4 ยับยั้งเซลล์มะเร็ง พบสาร 2 ชนิดในลำต้นบอระเพ็ดที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ (กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร)

  1. สันโศก (Clausena excavata)

    2.1 ยับยั้งเชื้อเอดส์ เมื่อนำรากและเหง้าสันโศกมาสกัดด้วย 35% เอทานอล/น้ำ สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี-1 (โรคเอดส์) ได้ พบสารยับยั้งเชื้อเอดส์ถึง 5 ชนิดในรากและเหง้า (ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตร 2 ฉบับ คือ สารบริสุทธิ์ประเภทคูมารินและคาร์บาโซล ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 (anti-HIV-1 activity) ที่แยกได้จากสันโศก (Clausena excavata) Patent Application No.086881 และสารบริสุทธิ์ O-methylmukonal ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 (anti-HIV-1 activity) ที่แยกได้จากสันโศก (Clausena excavata) เป็นครั้งแรก Patent Application No.086882) โดยได้นำสารเหล่านี้มาทำการวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพของสารสกัดสันโศก โดยขณะนี้พบสภาวะที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ด้วย HPLC เพื่อควบคุมคุณภาพของสันโศก เนื่องจากสันโศกแต่ละแหล่งมีการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอดส์ต่างกัน โดยแหล่งที่มีการออกฤทธิ์ดี คือ ตราด ลำปาง จันทบุรี เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ใช้สมุนไพรชนิดนี้หมักด้วยเหล้าโรง 35 ดีกรี ประมาณ 7 วัน ก่อนนำไปรับประทานควรจะนำไปอุ่นเคี่ยวเพื่อให้เอทานอลระเหยออก

    2.2 ยับยั้งเชื้อวัณโรค พบสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค ในรากและเหง้าของสันโศกถึง 7 ชนิด ซึ่งเป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์

    2.3 ยับยั้งเชื้อรา พบสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา ในรากและเหง้าสันโศก 4 ชนิด โดยเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์

  2. ทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus) ในรากและใบของต้นทองพันชั่งมีสารไรนาแคนทิน หลายชนิด ซึ่งเป็นสารกลุ่มแนพโทควิโนนเอสเทอร์ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดี และยังพบว่าสารไรนาแคนทินบางชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี แต่ปริมาณของสาร Rhinacanthins ที่แยกได้จากพืชมีปริมาณน้อยมาก ดังนั้นการสังเคราะห์สารเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อนำไปสู่ยารักษาโรคมะเร็งหรือยาปฏิชีวนะได้ในอนาคต ทางหน่วย NPOS ได้ทำวิจัยร่วมกับฝ่ายสมุนไพรสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งมีคุณผ่องพรรณ ศิริพงษ์ เป็นหัวหน้าหน่วย โดยทางหน่วย NPOS ได้ทำการสังเคราะห์สารไรนาแคนทินและอนุพันธ์ ไปทั้งหมด 70 ชนิด (ได้ทำการจดสิทธิบัตรไป 2 ฉบับ ในชื่อเรื่อง "สารอนุพันธ์ใหม่ dihydropyrano-1,2-naphthoquinones, dihydrofurano-1,2-naphthoquinones, dihydropyrano-1,4-naphthoquinones และ dihydrofurano-1,4-naphthoquinones ที่ยับยั้งเซลล์มะเร็ง" (Patent Application No. 073725) และ "สารอนุพันธ์ใหม่ 1,4-แนพโทควิโนน เอสเทอร์ (1,4-naphthoquinone ester) ที่ยับยั้งเซลล์มะเร็ง" (Patent Application No. 073726) )

 

 

บุญส่ง คงคาทิพย์  งามผ่อง คงคาทิพย์  พิทักษ์ เชื้อวงศ์  นลวัฒน์ บุญญาลัย  คมกริช หาสิตะพันธุ์  นราธิป ประดิษฐ์ผล  สุริยัน สุทธิประภา
ภรภัทร สำอางค์  ชัชวาล พลอยสุข  สุธินี บุญอนันต์วงศ์   พจมาลย์ บุญญถาวร  จันจิรา รุจิรวณิช  คมสัณห์ อิ่มพันธ์แบน  สาวิตรี โชติชัย
นิรดา ปิ่นพิภพ  ชนายุทธ ลักษณะวีระ  ภาวิณี วิเชียรนุกูล  สุพิชญา เอี่ยมสอาด  ณัฏฐา อิงคะวัต  และ ศศิธร เหล่ากาญจนา

บุคคลและสถาบันที่มีความร่วมมือกัน

  • ยุพา มงคลสุข และ มะลิวัลย์ ธนะสมบัติ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI)
  • รศ.ดร.ประสาน ธรรมอุปกรณ์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • รศ.ดร.เพ็ญโฉม พึ่งวิชา ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผอ.ปราณี ชวลิตธำรง และทรงพล ชีวะพัฒน์ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • ศ.ดร.ชโลบล อยู่สุข ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • รศ.ดร.พลังพล คงเสรี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ดร.ผ่องพรรณ ศิริพงษ์ ฝ่ายสมุนไพร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข