เชื้อเพลิงอัดแท่งจากเหง้ามันสำปะหลัง

           การเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลังสดนั้น พบว่ามีส่วนของลำต้นที่ติดกับส่วนของหัวมันสด หรือส่วนที่เรียกว่า เหง้ามันสำปะหลัง เป็นส่วนที่แข็งของต้นมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรต้องตัดทิ้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเหง้ามันสำปะหลังดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังได้ โดยปกติเกษตรกรจะตัดทิ้งไว้ในไร่ (ภาพที่ 1) และเผาทิ้ง แต่บางส่วนตัดไม่หมดคงปล่อยให้ติดมากับหัวมันสำปะหลังสด ทำให้เป็นภาระกับโรงงานผลิตแป้ง ที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการตัดออก (ภาพที่ 2) แม้แต่ผู้ประกอบการผลิตมันเส้นเมื่อรับหัวมันสดที่ติดเหง้ามาจะทำให้ได้ผลผลิตมันเส้นที่ไม่มีคุณภาพ มีเหง้าแห้งติดอยู่ ขายได้ราคาต่ำและไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อลดปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงมีแนวคิดในการนำเหง้ามันสำปะหลังมาเผาแล้วอัดแท่งใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิงแทนฟืนและถ่าน เนื่องจากวิเคราะห์ค่าความร้อนของเหง้ามันสำปะหลังแห้งพบว่ามีค่าความร้อนสูงถึง 3,500 – 4,058 แคลอรีต่อกรัม พอจะเทียบได้จากค่าความร้อนของไม้ฟืน หรือหากจะเทียบกับค่าความร้อนของน้ำมันเตาประมาณ 9,500 แคลอรีต่อลิตร

ลักษณะและสมบัติของเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเหง้ามันสำปะหลัง

          เหง้ามันสำปะหลังก่อนเผาเป็นถ่านให้ค่าความร้อนโดยประมาณเท่ากับ 3,800-4,400 แคลอรี่ต่อกรัม ขึ้นกับลักษณะเหง้ามันสำปะหลัง กล่าวคือถ้าเป็นเหง้าบริเวณข้อต่อระหว่างโคนต้นกับหัวมันสำปะหลัง ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้แข็ง จะให้ค่าความร้อนทั้งก่อนเผาและหลังเผาเป็นถ่านแล้วสูงกว่าเหง้ามันสำปะหลังที่มีส่วนติดลำต้นมามาก โดยเมื่อนำเหง้ามันสำปะหลังที่เผาเป็นถ่านแล้วมาอัดเป็นเชื้อเพลิงแท่งจะให้ค่าความร้อนประมาณ 6,000 – 6,300 แคลอรีต่อกรัม มีค่าคาร์บอนคงตัว 25 – 27 มีปริมาณความชื้นร้อยละ 7 – 8 โดยน้ำหนัก มีปริมาณสารระเหยร้อยละ 55 – 57 โดยน้ำหนัก มีปริมาณเถ้าร้อยละ 10- 11 โดยน้ำหนัก ความหนาแน่น 0.9 – 1.0 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร มีค่าการทนแรงอัดแนวตั้ง 4.1 – 4.2 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร มีค่าการทนแรงอัดแนวนอน 1.5 – 1.7 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ค่าดัชนีการแตกร่วน 1 – 1.3 และมีค่าประสิทธิภาพการใช้งานความร้อนร้อยละ 33 – 34 โดยน้ำหนัก (ภาพที่ 3)

ประสิทธิภาพการใช้งานของเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเหง้ามันสำปะหลัง

                เชื้อเพลิงอัดแท่งจากเหง้ามันสำปะหลังจากโรงงานมันเส้น ขนาดผง 10 มิลลิเมตร อัตราส่วนตัวประสานแป้ง:น้ำเท่ากับ 1:9 สามารถติดไฟได้ภายในเวลา 2 นาที มีควันและกลิ่นน้อย สามารถต้มน้ำให้เดือดได้ 2 หม้อ โดยหม้อแรกใช้เวลาประมาณ 15 นาที หม้อที่ 2 ใช้เวลา 15 นาที ส่วนหม้อที่ 3 มาสามารถทำให้น้ำเดือดได้ แต่มีอุณหภูมิ 84 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลา 48 นาที รวมระยะเวลาติดไฟ 78 นาที ประสิทธิภาพการใช้งานความร้อนมีค่า 33.11 %

 

จุฑามาศ บุษราคัมวดี ประเทือง อุษาบริสุทธิ์ และ สุกัญญา จัตตุพรพงษ์
ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ ฯ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 034-352*035