ผลการใช้ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์ปีก

           ใบมันสำปะหลังเป็นผลพลอยได้หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลัง ใบมันสำปะหลังสดทั่วไปมีความชื้นอยู่สูงประมาณ 80 % และมีระดับไซยาไนด์อยู่สูง ไม่ควรนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ในสภาพยังสดอยู่ อย่างไรก็ตามใบมันสำปะหลังแห้งโดยผ่านการผึ่งแดด หรือทำการอบแห้งให้มีความชื้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้เป็นวัตถุดิบที่ดีในสูตรอาหารได้ (ภาพที่ 1) โดยไม่เพียงแต่เป็นแหล่งของโปรตีนและเยื่อใยในสูตรอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งของสารสีหรือแซนโทฟิลล์ในอาหารสัตว์อีกด้วย คุณค่าทางโภชนะและองค์ประกอบทางเคมีของใบมันสำปะหลังตากแห้งมีดังนี้

วัตถุแห้ง 90 เปอร์เซ็นต์
โปรตีน 20-25 เปอร์เซ็นต์
เยื่อใย 21 เปอร์เซ็นต์
แคลเซี่ยม 0.99 เปอร์เซ็นต์
ฟอสฟอรัส 0.73์ เปอร์เซ็นต์

ภาพที่ 1 ใบมันสำปะหลัง

           การใช้ใบมันสำปะหลังเป็นแหล่งสารสีแซนโทฟิลล์ในอาหารสัตว์ปีก ได้ทดลองโดยทวีศักดิ์ (2544) ซึ่งศึกษาการใช้ใบมันสำปะหลังเป็นแหล่งสารสีในอาหารไก่ไข่ และพบว่าการเพิ่มระดับใบมันสำปะหลังในสูตรอาหารทำให้คะแนนสีไข่แดงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

            โดยไก่ไข่ที่ได้รับอาหารมันสำปะหลังเสริมด้วยใบมันสำปะหลังระดับต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งสารสี มีคุณภาพไข่ที่ผลิตได้ไม่แตกต่างจากไข่ของไก่ที่กินอาหารสูตรข้าวโพด อย่างไรก็ตามการใช้ใบมันสำปะหลังในระดับสูงอาจทำให้อาหารมีเยื่อใยสูงและมีความฟ่ามมาก ทำให้ปริมาณการกินอาหารของสัตว์ไม่เพียงพอ ระดับใบมันสำปะหลังที่ใช้ในอาหารไก่ไข่ไม่ควรเกิน 5–7 %

             วิภาสิริ (2548) ได้ทำการศึกษาการใช้ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารไก่ไข่ พบว่าแม่ไก่ที่กินอาหารใช้ใบมันสำปะหลังเป็นแหล่งสารให้สีในสูตรอาหารมีผลผลิตไข่และคะแนนสีของไข่แดงสูงกว่าแม่ไก่ที่กินอาหารที่ใช้ใบกระถินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) นอกจากนี้ในใบมันสำปะหลังยังมีสารไซยาไนด์อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งพบว่าร่างกายจะทำการเปลี่ยนสารไซยาไนด์เป็นสารไธโอไซยาเนต ซึ่งสารไธโอไซยาเนตนี้สามารถทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H202) ในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระให้เปลี่ยนเป็นน้ำ เป็นการช่วยกำจัดอนุมูลอิสระอีกทางหนึ่ง รวมทั้งการกระตุ้นการสังเคราะห์กลูตาไธโอนด้วย (Murry et al., 1996 และMary et al., 2001) ดังนั้นใบมันสำปะหลังจึงมีศักยภาพในการใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นอกจากเป็นแหล่งให้โปรตีนและสารให้สีแล้ว ยังเป็นวัตถุดิบอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้แก่สัตว์ได้อีกด้วย จีราภา (2550) รายงานว่าการเพิ่มระดับใบมันสำปะหลังในสูตรอาหารมีผลทำให้ปริมาณกลูตาไธโอนในกระแสเลือดของไก่เนื้อในทุกช่วงอายุเพิ่มขึ้นตามระดับของใบมันสำปะหลังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05)

 

ทวีศักดิ์ เตชะเกรียงไกร วิภาสิริ เสภารัตนานันท์ จีราภา เตียวสมบูรณ์กิจ อุทัย คันโธ และ สุกัญญา จัตตุพรพงษ์
ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ ฯ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 034-352-035