การใช้มันสำปะหลังในอาหารสัตว์ต่อการเพิ่มภูมิต้านทานโรค

           มันสำปะหลังที่นำมาใช้ในอาหารสัตว์ ได้จากการนำหัวมันสำปะหลังสดมาหั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วผึ่งแดดให้แห้งเป็นเวลา 3-4 แดด โดยทั่วไปมันเส้นจะมีคุณค่าทางอาหารดังนี้

โปรตีน 2 เปอร์เซ็นต์
พลังงานใช้ประโยชน์ได้ในสุกร 3,260 กิโลแคลอรี่/กก.
พลังงานใช้ประโยชน์ได้ในสัตว์ปีก 3,500 กิโลแคลอรี่/กก.
ไขมัน 0.75 เปอร์เซ็นต์
เยื่อใย 3.7 เปอร์เซ็นต์

การใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์ต่อภูมิต้านทานโรคในสัตว์
         การใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์มักพบว่า สัตว์ที่เลี้ยงด้วยสูตรอาหารมันสำปะหลังมักมีสุขภาพดีขึ้น ความต้านทานโรคสูงขึ้นและต้องการใช้ยาปฏิชีวนะน้อยลงหรือไม่ต้องใช้เลย ซึ่งมันสำปะหลังหลังจากตากมันสำปะหลัง 3 – 4 แดด แล้ว ยังพบว่ามีสารไซยาไนด์เหลืออยู่ประมาณ 30 พีพีเอ็ม. ซึ่งไม่เป็นพิษต่อตัวสัตว์แต่กลับเป็นผลดีต่อตัวสัตว์

โคนม
        โดยทั่วไปสารไธโอไซยาเนท ในน้ำนมมีอยู่ประมาณ 0.1 – 1.5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งขึ้นอยู่กับอาหารที่สัตว์ได้รับ โดยสารไธโอไซยาเนทที่มีในน้ำนมจะรวมตัวกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และเอนไซม์แลคโตเปอร์ออกซิเดส ได้เป็นสารไฮโปรไธโอไซยาเนทและน้ำ ซึ่งสารไฮโปรไธโอไซยาเนทมีผลออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่เป็นโทษในน้ำนม การที่โคนมได้กินอาหารสูตรมันสำปะหลังมีผลให้ได้รับสารไซยาไนด์ในระดับต่ำ โดยสารไซยาไนด์เหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายสัตว์จะเปลี่ยนเป็นสารไธโอไซยาเนท ทำให้โคนมมีสารไธโอไซยาเนทในน้ำนมเพิ่มขึ้นจึงเป็นผลดีต่อสุขภาพของแม่โค ลดการเกิดเต้านมอักเสบได้

สัตว์ปีก
        สำหรับการใช้มันสำปะหลังในสูตรอาหารต่อภูมิคุ้มกันในไก่กระทง สามารถสรุปได้ว่า ไก่กระทงที่กินอาหารที่ใช้มันสำปะหลังเป็นแหล่งพลังงานนั้น มีภูมิคุ้มกันทั้งในส่วนของภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะเจาะจง (วัดจากการทำงานของเซลล์แมคโครฟาจ) และภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง (วัดจากการเจริญของเซลล์ลิมโฟซัยท์ ชนิดที) ที่ดีกว่าไก่กระทงที่กินอาหารที่ใช้ข้าวโพดเป็นแหล่งพลังงาน และนอกจากนี้ยังพบว่าไก่กระทงที่กินอาหารที่ใช้มันสำปะหลังเป็นแหล่งพลังงานนั้นมีปริมาณกลูทาไธโอนที่มากกว่าด้วย ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่าสัตว์มีความเครียดน้อยกว่า และมีสุขภาพดีกว่า ซึ่งก็เป็นผลมาจากในมันสำปะหลังมีปริมาณสารไซยาไนด์ในระดับต่ำ ๆ เช่นเดียวกับโคนม


 

อุทัย คันโธ สุกัญญา จัตตุพรพงษ์ ศิริรัตน์ บัวผัน และ สรัสนันท์ สว่างคำ
ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ ฯ
โทร. 034-352-035