การนำของเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สามารถเพิ่มผลิตและคุณภาพของพืชได้
เนื่องจากของเสียเหล่านี้มีธาตุอาหารต่าง ๆ ในปริมาณมาก ทั้งธาตุอาหารหลัก
ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุอาหารต่าง ๆ ได้แก่ ธาตุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส
โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก ทองแดง สังกะสี แมงกานีส
โซเดียม ฯ ซึ่งมีการเสริมในอาหารสุกรยุคใหม่ในระดับสูง แต่สัตว์ไม่สามารถย่อยและดูดซึมใช้ประโยชน์ได้หมด
จึงมีเหลือขับถ่ายออกมาในมูลสัตว์ ซึ่งธาตุอาหารเหล่านี้จะมีประโยชน์ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงได้มาก
พืชสร้างคลอโรฟิลล์มากขึ้น ทำให้ใบพืชมีสีเขียวขึ้น ส่งผลให้พืชสร้างผลิตผลเต็มที่
ต้นพืชแข็งแรงไม่เป็นโรคง่าย อายุการเก็บเกี่ยวยาวนานขึ้น สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้
การเกษตรจังหวัดนครปฐมจะเป็นเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้เลี้ยงสัตว์จะไม่มีปัญหาจากของเสียในฟาร์ม
แต่กลับจะมีรายได้จากการขายมูลสัตว์และของเสียเพื่อใช้เป็นปุ๋ยอีกด้วย
จากการศึกษาปริมาณธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในมูลสัตว์ชนิดต่างๆ พบว่า
มูลสุกรและกากตะกอนของมูลสุกรจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพ รวมทั้งมูลไก่ไข่มีปริมาณธาตุไนโตรเจน
ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ทองแดง แมงกานีส และสังกะสีมากกว่ามูลโค
ขณะที่มูลโคมีปริมาณธาตุโพแทสเซียม และโซเดียมมากกว่ามูลสุกร อย่างไรก็ตามปริมาณธาตุอาหารเหล่านี้อาจมีความผันแปรไปตามชนิดของวัตถุดิบอาหารรวมทั้งแร่ธาตุที่เสริมลงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์
นอกจากนี้ยังมีส่วนของน้ำล้างคอก จากบ่อพักน้ำเสียหรือในระบบบำบัด
ซึ่งน้ำส่วนนี้มีธาตุอาหารพืชชนิดต่างๆ สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยน้ำที่ให้ทางดินหรือฉีดพ่นทางใบได้เช่นกัน
รูปแบบของการใช้ของเสียในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นปุ๋ยกับพืชชนิดต่างๆ
1) มูลสัตว์แห้งใส่ในแปลงปลูกพืชโดยตรง 2) ปุ๋ยหมักมูลสัตว์ชนิดต่างๆ
3) ทำน้ำสกัดมูลสุกร โดยใช้มูลสุกรแห้งแชน้ำอัตราส่วน 1 : 10 แช่ไว้
24 ชั่วโมง นำน้ำสกัดส่วนใสเจือจางด้วยน้ำ 1 ต่อ 10-20 ใช้รดรอบๆ ต้นพืชและฉีดพ่นทางใบ
4) น้ำล้างคอก/น้ำทิ้งจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ใช้เครื่องดูดขึ้น ไปเจือจางกับน้ำตามความเหมาะสมแล้วฉีดพ่นในแปลงปลูกพืช
ภายหลังจากได้เผยแพร่ข้อมูล มีเกษตรกรในจังหวัดนครปฐมที่เข้าร่วมโครงการและได้รับปุ๋ยปุ๋ยมูลสัตว์ชนิดต่าง
ๆ ไปทดลองใช้ในแปลงปลูกพืชของตนเอง จำนวน 369 ราย เกษตรกรเกือบทั้งหมดให้การตอบรับเป็นอย่างดี
มีความสนใจและต้องการใช้ของเสียในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นปุ๋ยให้กับพืชชนิดต่างๆ
เนื่องจากภายหลังจากพืชได้รับปุ๋ย ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี และได้น้ำหนัก
ข้าวได้ผลผลิตมากกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนผัก ใบตั้งและ เขียวขึ้น
ได้น้ำหนัก ผลผลิตมากขึ้นเท่าตัวเช่นเดียวกับไม้ดอก ไม้ผลมีรสหวานและผลใหญ่
ส่วนอ้อยมีการแตกกอดี ลำใหญ่ขึ้น ซึ่งคุณภาพผลผลิตที่ดีขึ้นเป็นที่ต้องการมากของตลาด
|