การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์เคี้ยวเอื้องด้วยกระถิน
(Leucaena leucocephala for ruminant production efficiency improvement)


           
          
กระถิน พืชตระกูลถั่วอาหารสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ถั่วไม้ยืนต้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Leucaena leucocephala (ภาพที่ 1) พบทั่วไปในประเทศประเทศไทย ทั้งนี้กระถินจัดเป็นพืชอาหารเขตร้อนที่มีองค์ประกอบทางเคมีสูงเทียบเท่าถั่วอาหารสัตว์เขตหนาวจำพวก ถั่วลูเซิน และถั่วไวท์คลอเวอร์ โดยเฉพาะคุณค่าทางโภชนะในส่วนของโปรตีนที่มีสูงถึง 17-24% นอกจากนั้นสารแทนนินที่มีอยู่ในกระถินนั้นยังช่วยให้การใช้ประโยชน์ของโปรตีนในสัตว์เคี้ยวเอื้องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 1กระถินพบได้ทั่วไปและมีการตัดมาใช้เลี้ยงโค

          อย่างไรก็ตามกระถินมีสารพิษที่เรียกว่า ไมโมซีน (Mimosine) ทำให้ความเข้มข้นของฮอร์ โมนจากต่อมธัยรอนด์ลดลงทำให้สัตว์ไม่อยากกินอาหาร ส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ต่ำลง และเกิดอาการขนร่วง ปัจจุบันมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องสารพิษไมโมซีนนี้โดยการค้นพบจุลินทรีย์ที่ชื่อว่า Synergistes jonesii ซึ่งพบในกระเพาะหมักของสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งจุลินทรีย์ตัวนี้สามารถทำลายพิษของไมโมซีนได้ จากรายงานการสำรวจในปีพศ. 2531 พบว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีจุลินทรีย์ตัวนี้ ซึ่งจุลินทรีย์ตัวนี้สามารถแพร่กระจายไปในระหว่างสัตว์ทุกตัวในฝูงโดยผ่านทางน้ำลาย ซึ่งสัตว์ที่กินกระถินอยู่เป็นประจำก็จะมีจุลินทรีย์ตัวนี้อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นกระถินจึงไม่มีโทษต่อสัตว์เคี้ยวเอื้อง (ภาพที่ 2)

 
ภาพที่ 2 แม่โคนมกำลังกินกระถินเพื่อเสริมคุณค่าทางอาหาร

          สำหรับในประเทศไทยนั้นการนำกระถินมาใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบเพื่อเสริมคุณค่าทางอาหารให้กับแม่โครีดนมที่กินหญ้ารูซี่ ก็พบว่าหากเสริมด้วยกระถินจะสามารถให้ผลผลิตนมที่มากกว่าแม่โคที่กินหญ้าอย่างเดียว (13.6 กก. กับ 11.9 กก.) แต่องค์ประกอบน้ำนมไม่แตกต่างกัน
สำหรับการเพิ่มคุณภาพพืชหมักนั้นกระถินในระดับ5-25%เมื่อหมักร่วมกับต้นข้าวโพดหวานหลังการเก็บเกี่ยว ก็สามารถเพิ่มคุณภาพต้นข้าวโพดหวานหมักโดยเพิ่มโปรตีนจาก6.8% เป็น 8.3-11.4% ซึ่งเหมาะสมสำหรับนำไปใช้เลี้ยงแพะได้อย่างดี เมื่อนำไปแพะทำให้แพะเจริญเติบโตได้วันละ 16 ถึง 80 กรัมต่อวัน

 
ภาพที่ 3 แพะกำลังกินกระถินทั้งใบและเปลือก

          นอกจากนั้นยังพบสารแทนนินในกระถินซึ่งจัดเป็นสารประกอบโพลีฟีนอลิคที่มีคุณสมบัติ ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของพยาธิตัวกลมในระบบทางเดินอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้องได้อีกด้วย ดังนั้นการใช้กระถินที่มีสารแทนนินตามธรรมชาติในการกำจัดพยาธิในระบบทางเดินอาหารของ สัตว์เคี้ยวเอื้องเพื่อทดแทนการใช้ยาถ่ายพยาธิ ซึ่งแพะกลุ่มที่ได้รับกระถินในปริมาณ 100% และ 50%ของปริมาณอาหารหยาบที่ให้กินและไม่ได้รับถ่ายพยาธินั้นมีปริมาณไข่พยาธิในอัตราที่ต่ำ และมีอัตราการเจริญเติบโตที่เทียบเท่ากับแพะที่ได้รับการถ่ายพยาธิและได้รับหญ้าสดและอาหารข้น (ภาพที่3) เพราะฉะนั้นการใช้กระถินในการเลี้ยงแพะจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหา พยาธิในระบบทางเดินอาหารของแพะ โดยสามารถลดการใช้ยาถ่ายพยาธิและสามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ฉะนั้นการใช้กระถินในการผลิตสัตว์เคี้ยวเอื้องนั้นนอกจากจะสามารถเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีแล้วกระถินยังสามารถใช้ทดแทนยาถ่ายพยาธิได้อีกด้วย
(ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งาน “นิทรรศการบนเส้นทางงานวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2550” ในงานวันเกษตรแฟร์ ปี 2550 ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2550)

สมเกียรติ ประสานพานิช 1,2 ,จำเริญ เที่ยงธรรม 1,สิทธิชัย แก้วสุวรรณ์2 และ นครไชย อันชื่น 2
1ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตนม สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-5791120 และ 0-8681-93363