ไส้เดือน
(earth worm) ที่พบกันในโลกในปัจจุบัน มีจำนวน 4400 ชนิด แบ่งตามลักษณะการอยู่อาศัยเป็น
3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มอาศัยอยู่บริเวณหน้าดิน (soil surface dwelling
species) (2) กลุ่มอาศัยอยู่ในดินชั้นบน (topsoil dwelling species)
พบในดินลึก 20-30 เซนติเมตร และ (3) กลุ่มอาศัยอยู่ในดินชั้นล่าง (subsoil
dwelling species) พบในดินลึก 1-3 เมตร ไส้เดือนกลุ่มที่มีความสำคัญมากที่สุดในการย่อยสลายสารอินทรีย์
คือ ไส้เดือนกลุ่มอาศัยอยู่บริเวณหน้าดิน เนื่องจากไส้เดือนในกลุ่มนี้สามารถเจริญเติบโตได้เร็ว
ขยายพันธุ์ได้มาก และมีประสิทธิภาพการย่อยสลายอินทรียวัตถุสูง จึงมีการนำไส้เดือนกลุ่มนี้มาเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆ
เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม มีการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดเศษอาหาร และขยะจากชุมชน
ด้านเกษตรกรรมมีการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยหมัก และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ด้านอาหารสัตว์ เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง และสัตว์น้ำ และทางด้านการแพทย์
ซึ่งมีการใช้ไส้เดือนรักษาโรคต่างๆ ในคน เช่นโรคข้ออักเสบ แผลอักเสบ
โรคผิวหนัง และสลายลิ่มเลือด (dissolve blood clots) ในบรรดาไส้เดือนที่อาศัยอยู่บริเวณหน้าดิน
ไส้เดือนที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันเป็นการค้าโดยทั่ว ๆ ไปมีจำนวน
5 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ ไส้เดือนลายเสือ (Tiger worm), ไส้เดือนลายเสือสีแดง
(Red Tiger worm) และไส้เดือนแดง (Red worm) ซึ่งเป็นชนิดของไส้เดือนจากเขตอบอุ่น
(temperate species) และไส้เดือนอาฟริกา (African Night Crawler) และไส้เดือนสีน้ำเงินจากเอเชีย
(Blue worm) ซึ่งเป็นชนิดของไส้เดือนจากเขตร้อน (tropical species)
ชนิดของไส้เดือนที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยง ในสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย
คือ ไส้เดือนอาฟริกัน และไส้เดือนสีน้ำเงินจากเอเชีย ไส้เดือนอาฟริกัน
(ชื่อวิทยาศาสตร์ Eudrilus eugeniae) เป็นไส้เดือนที่มีกำเนิดในทวีปอาฟริกาตอนกลาง
แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมนำไปเลี้ยงกันโดยทั่วไป เป็นไส้เดือนขนาดใหญ่น้ำหนักตัวสูงสุดเฉลี่ย
4 กรัม ยาวประมาณ 12 นิ้ว ลำตัวมีสีม่วงอมเทา มองเห็นเป็นประกายสีน้ำเงิน
ข้อดีของไส้เดือนชนิดนี้คือ เจริญเติบโตเร็ว ตัวโต กินอาหารมาก (กำจัดสารอินทรีย์ได้เร็ว)
และมีอัตราการขยายพันธุ์สูง
ไส้เดือนสีน้ำเงินจากเอเชีย
(ชื่อวิทยาศาสตร์ Perionyx excavatus) เป็นไส้เดือนที่พบแพร่กระจายทั่วไปใน
ทวีปเอเชียได้แก่ ประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี มาเลเซีย พม่า รวมทั้งประเทศไทย
(มีรายงานการสำรวจพบใส้เดือนชนิด นี้ในประเทศไทยมานานกว่า 67 ปี, Gates
1939) ไส้เดือนสีน้ำเงินมีลำตัวผอมแต่ยาว น้ำหนักสูงสุดเฉลี่ย 0.5
กรัม ยาวประมาณ 6 นิ้ว ลำตัวส่วนหน้ามีสีม่วงอมน้ำตาล มองเห็นเป็นประกายสีน้ำเงิน
ส่วนท้ายมีสีน้ำตาลหรือสีแดง ข้อดีของไส้เดือนชนิดนี้ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก
เลี้ยงง่ายและเจริญเติบโตได้ดี
(ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งาน นิทรรศการบนเส้นทางงานวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปี 2550 ในงานวันเกษตรแฟร์ ปี 2550 ระหว่างวันที่ 26 มกราคม 3 กุมภาพันธ์
2550)
|