การผลิตและการใช้ประโยชน์จากหญ้าแพงโกล่าในการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง
(Pangola production and utilization for ruminant production)


         
              อาหารหยาบเป็นอาหารหลักของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งพืชอาหารสัตว์ก็เป็นอาหารหยาบชนิดหนึ่งที่เกษตรกรสามารถปลูกไว้ใช้ในฟาร์ม เมื่อปีพศ. 2545 รัฐบาลได้จัดตั้งโครงการนาหญ้าและพัฒนาเป็นอาชีพผลิตเสบียงอาหารสัตว์และสนับสนุนให้เป็นธุรกิจการผลิตและจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง หญ้าแพงโกล่าเป็นหญ้าที่ได้รับการส่งเสริม เพราะมีใบดก อ่อนนุ่ม สัตว์ชอบกิน (ภาพที่ 1) นิยมจำหน่ายในรูปของหญ้าสด หญ้าหมัก และหญ้าแห้ง

 
ภาพที่ 1 หญ้าแพงโกล่ามีใบดก อ่อนนุ่ม โคชอบกิน

           สำหรับการปลูกสร้างทุ่งหญ้าแพงโกล่านั้น เกษตรกรสามารถปลูกหญ้าได้ทั้งแบบที่ลุ่มและที่ดอน แต่มักนิยมปลูกแบบในที่ลุ่มแบบนาหญ้าเช่นเดียวกับการทำนาข้าว โดยใช้ท่อนพันธุ์หว่านในพื้นที่ที่เตรียมไว้ในอัตรา 300 กก.ต่อไร่ หลังจากนั้นประมาณ 8-10 วันก็เริ่มงอก (ภาพที่ 2) แล้วเริ่มเก็บเกี่ยวครั้งแรกเมื่อหญ้าอายุ 60 วัน

 
ภาพที่ 2 ปลูกหญ้าแพงโกล่าในที่ลุ่มแบบนาหญ้า และประมาณ 8-10 วันก็เริ่มผลิใบอ่อน                   

            การนำไปใช้ประโยชน์โดยมีวิธีการตัดสด ปล่อยโคลงแทะเล็ม รวมทั้งการทำหญ้าแห้ง และหญ้าหมัก โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้วิธีการตัดสดไปให้โคกินในคอก (ภาพที่ 3)

 
ภาพที่ 3 แปลงหญ้าแพงโกล่าพร้อมตัดไปให้โคกินมนคอก

             แต่ในช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสดเช่นในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรก็สามารถนำหญ้าแพงโกล่าหมักมาใช้เลี้ยงโคนมได้โดยไม่ทำให้ผลผิตนมลดลงแต่อย่างไร (ภาพที่ 4) กล่าวคือแม่โครีดนมที่กินหญ้าแพงโกล่าหมักสามารถให้ผลผลิตนมวันละ 15.7 กก.ต่อตัวซึ่งไม่แตกต่างกันกับแม่โคที่กินหญ้าแพงโกล่าสด (15.2 กก.ต่อตัว) ทั้งนี้องค์ประกอบน้ำนมก็ไม่แตกต่างกันด้วย

 
ภาพที่ 4 แม่โคกำลังกินหญ้าแพงโกล่าหมักและหญ้าแพงโกล่าสด

                ดังนั้นการปลูกหญ้าแพงโกล่าไว้ใช้เองในฟาร์มไม่ว่าจะเป็นหญ้าตัดสดหรือหญ้าหมักก็สามารถรักษาระดับผลผลิตนมในฟาร์มให้สม่ำเสมอตลอดปีได้
(ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งาน “นิทรรศการบนเส้นทางงานวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2550” ในงานวันเกษตรแฟร์ ปี 2550 ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2550)

 สมเกียรติ ประสานพานิช1,2 ,สิทธิชัย แก้วสุวรรณ์1 ,นครไชย อันชื่น1 และ ศิริรัตน์ บัวผัน1
1ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตนม สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 034-351033 และ 0-8681-93363