การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์

           ในปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบเป็นอย่างมาก เนื่องจากสัตว์ทะเลหลายชนิดมีรูปร่างแปลกตา สีสันสดสวย รวมถึงพฤติกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายหลายชนิด สัตว์ทะเลสวยงามที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเช่นปลาทะเลตามแนวปะการัง ดอกไม้ทะเล ปะการัง ฯลฯ การเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามเป็นการเลี้ยงที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจากสัตว์ทะเลสวยงามเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีราคาแพงและเลี้ยงค่อนข้างยาก ส่วนสัตว์ทะเลดังกล่าวที่นำมาเลี้ยงหรือเพื่อจำหน่ายนั้นมักเป็นสัตว์ทะเลที่ได้จากการจับจากธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์ มีจุดประสงค์เพื่อหวังให้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามได้พัฒนาสู่การขยายพันธุ์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้เพื่อทดแทนการจับจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้คงไว้แก่บุคคลรุ่นหลัง อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง

                                              การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามในปัจจุบัน
            การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามในปัจจุบันได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเป็นอย่างมาก โดยทั้งหน่วยงานของรัฐบาลและฟาร์มของเอกชลประสพความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามบางชนิด สัตว์ทะเลสวยงามที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ส่วนใหญ่เป็น สัตว์ที่ได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก เช่น ปลาการ์ตูน, ม้าน้ำ, หอยมือเสือ, ปะการัง, เห็ดทะเล เป็นต้น
            แต่ดัวยเหตุผลหลายประการทำให้สัตว์ทะเลสวยงามดังกล่าวไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายตามความต้องการของผู้เลี้ยงสัตว์ทะเลทั้งหมดได้ ดังนั้นจึงควรหาแนวทางแก้ไขเพื่อผลิตสัตว์ทะเลจากการเพาะเลี้ยง เพื่อทดแทนการจับจากธรรมชาติ และพัฒนาการเพาะเลี้ยงเพื่อให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจต่อไป ตัวอย่างสัตว์ทะเลที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในปัจจุบันคือ

 
ปลาการ์ตูน (รูปที่ 1)


             ปลาการ์ตูนเป็นปลาทะเลอีกชนิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยง ในปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงของเอกชลสามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนเข้าสู่ตลาดปลาสวยงาม ลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนที่ได้จากการเพาะพันธุ์เป็นลูกปลาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นปลาที่ไม่ได้ถูกจับมาจากธรรมชาติ สามารถมีผลผลิตที่แน่นอนในทุกฤดูกาล เป็นปลาที่แข็งแรงทนทานการเปลี่ยนแปลงในสถานที่เลี้ยง นอกจากนั้นจากการสังเกตยังพบว่าปลาการ์ตูนที่ได้จากการเพาะพันธุ์ยังมีสีสันและลวดลายที่แปลกซึ่งไม่พบในธรรมชาติ เหมาะสำหรับพัฒนาให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ

 
หอยมือเสือ (รูปที่ 2)

                    หอยมือเสือ (Giant clam) เป็นหอยในกลุ่มหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในทะเลไทยพบหอยมือเสืออยู่ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ประสพความสำเร็จทางด้านการเพาะพันธุ์หอยมือเสือตังแต่ พ.ศ. 2536 สามารถผลิตลูกพันธุ์หอยมือเสือได้เป็นจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดนี้ แต่ยังไม่มีการส่งเสริมให้แก่ผู้ที่สนใจนำข้อมูลทางวิชาการเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ เพราะหอยมือเสือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

 
เห็ดทะเล (รูปที่ 3)

                 เห็ดทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รูปร่างคล้ายเห็ด นักชีววิทยาทางทะเลจัดเห็ดทะเลไว้ในไฟลัมเดียวกับสัตว์พวกปะการังและดอกไม้ทะเล ในประเทศไทยการศึกษาความหลากหลายและชีววิทยาของเห็ดทะเลมีอยู่น้อยมาก การขยายพันธุ์เห็ดทะเลนั้นสามารถทำได้ในตู้เลี้ยงปลา เพราะเห็ดทะเลเป็นสัตว์ที่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ การเจริญเติบโตของเห็ดทะเลนั้นใช้เวลาไม่นานเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ในกลุ่ม Cnidarians ด้วยกัน

 
ปะการัง (รูปที่4)



            ปะการังเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นอย่างมาก การขยายพันธุ์ปะการังสามารถทำได้โดยง่ายด้วยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น วิธีปักชำ และแตกหน่อ เช่นเดียวกับต้นไม้ แต่การเจริญเติบโตของปะกังค่อนข้างช้า จึงทำให้การขยายพันธุ์ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
อย่างไรก็ตามปะการังเป็นสัตว์คุ้มครองเช่นเดียวกับหอยมือเสือ จึงทำการเลี้ยงปะการังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
                                                           
                                           ปัญหาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงาม
1.ข้อมูลการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามยังมีข้อมูลอยู่น้อยมาก ขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีข้อมูลการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามเพียงบางชนิดเท่านั้น
2.สัตว์ทะเลสวยงามส่วนมากเป็นสัตว์ที่มีการเจริญเติบโตช้า จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตสัตว์ทะเลสวยงามดังกล่าวสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ทะเลสวยงามที่ได้จากการจับ
3.สัตว์ทะเลสวยงามหลายชนิดเป็นสัตว์คุ้มครองตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จึงทำให้หน่วยงานของเอกชลไม่สามารถครอบครองหรือขยายพันธุ์สัตว์ทะเลบางชนิดได้ ส่วนหน่วยงานราชการสามารถศึกษาข้อมูลได้เพียงประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
4.หน่วยงานเอกชลมีความสนใจในการเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลสวยงามที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิดแต่ขาดการร้องขอเพื่อทำการขยายพันธุ์ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ยาก และไม่มีความเข้าใจในพระราชบัญญัติดังกล่าว

 

สหภพ ดอกแก้ว
ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีปลาสวยงาม และพรรณไม้น้ำประดับ
ฝ่ายสนับสนุนวิชาการ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2942-8365