กรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ
และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
จึงได้ทำการว่าจ้างสถาบันที่ปรึกษา ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินงานศึกษาสำรวจและออกแบบระดับ
Tender Design โดยเน้นที่จะแก้ไขปัญหาการระบายน้ำและการจัดการน้ำหลากในพื้นที่บริเวณโดยรอบสนามบินเป็นอันดับแรก
และการจัดการน้ำหลากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออกเป็นแบบบูรณาการทั้งลุ่มน้ำ
ประกอบด้วย
- การศึกษาสภาพน้ำหลากในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก
(รวมลุ่มน้ำป่าสักตอนล่าง) โดยอาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสม
- การศึกษาการจัดการน้ำหลากและการระบายน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก
โดยเน้นพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่เร่งด่วนที่จะต้องระบายน้ำออกให้ได้ทัน
โดยไม่เกิดความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่
- การศึกษาการจัดการน้ำหลากจากบริเวณพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
โดยการผันน้ำหลากบางส่วนไปทางด้านแม่น้ำบางปะกง และ/หรือขุดคลองผันน้ำใหม่ผ่านพื้นที่โครงการและออกสู่ทะเลโดยเร็ว
- การออกแบบระดับ Tender Design
แนวทาง/มาตรการการจัดการน้ำหลากที่สำคัญเร่งด่วนที่เสนอจากผลการศึกษา
- การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นจาก
แนวทาง/มาตรการ การจัดการน้ำหลากดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของราษฎรในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มการศึกษาจนกระทั่งได้แนวทาง/มาตรการและในช่วงการออกแบบโครงการ
เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในทุกระยะการดำเนินการ
ระยะเวลาดำเนินการ
: เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เดือนธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 1 เดือนธันวาคม
2547

สามารถสรุปแผนรวมในการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัย
ออกเป็นแผนงาน 3 ระยะประกอบด้วยแผนเร่งด่วน แผนระยะสั้น และแผนระยะยาว
ดังนี้

- แผนเร่งด่วน :
เป็นมาตรการการจัดการน้ำหลากและการระบายน้ำในพื้นที่เร่งด่วนบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย คือ การขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ ช่วงตั้งแต่คลองสำโรง-ถึงชายทะเล
พร้อมถนนคมนาคมทั้งสองด้านของคลอง มีอัตราสูบน้ำสูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที
และการติดตั้งระบบโทรมาตรอุทกวิทยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำหลากและการทำงานของเครื่องสูบ
โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม
2548 ในระยะเวลาก่อสร้างรวม 26 เดือน
- แผนระยะสั้น :
ประกอบด้วยพื้นที่เร่งด่วน เสนอให้ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำของอาคารระบายน้ำบริเวณถนนบางนา-ตราด
จำนวน 22 แห่ง โดยมีกรมทางหลวงร่วมกับกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
และปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำจากถนนบางนา-ตราด
จนถึงคลองสำโรง จำนวน 22 สาย โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวให้ใช้งบประมาณตามแผนงานปรับปรุงประจำปี
ส่วนพื้นที่
นอกเขตพื้นที่เร่งด่วน ทำการปรับปรุงสภาพลำน้ำและระบบระบายน้ำเพื่อผันน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทยตามแนวพระราชดำริ
(2542) และพระราชหัตถเลขา (2544) โดยการเพิ่มขีดความสามารถของการระบายน้ำทางทุ่งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ประกอบด้วยงานก่อสร้าง และปรับปรุง ดังนี้
(1)
งานขุดลอก/ปรับปรุงคลองระบายน้ำและอาคารตามแนวคลอง ประกอบด้วย
คลองระพีพัฒน์ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ คลอง 13 คลอง 14 คลอง 17 คลองบางขนาก
คลองนครเนื่องเขต คลองหกวาสายล่าง คลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองด่าน
(2)
งานก่อสร้าง/ปรับปรุง แม่น้ำนอก ความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ
และสถานีสูบน้ำใหม่ เพื่อสูบน้ำออกสู่แม่น้ำนครนายกสูงสุด 50 ลบ.ม./วินาที
(3)
งานปรับปรุงเพิ่มเติมเครื่องสูบน้ำและสถานีสูบน้ำที่ปตร.บางขนาก
ปตน.สมบูรณ์ และปตร.ท่าไข่ ตลอดจนเร่งดำเนินการสถานีสูบน้ำที่ปตน.ชลหารพิจิตรที่กำลังก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
- แผนระยะยาว : เสนอให้มีการศึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองผันน้ำบางไทร-คลองด่าน-อ่าวไทย
ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาผ่านทุ่งฝั่งตะวันออกและระบายน้ำลงทะเลที่อ่าวไทย
และดำเนินการศึกษาแนวทางเลือกเพื่อเปรียบเทียบ ได้แก่ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
และขนาดกลาง การกำหนดและพัฒนาพื้นที่ชะลอน้ำท่วมและแก้มลิงขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ซึ่งจะสามารถบรรเทาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำทางตอนล่างได้ และสามารถเก็บกักไว้
ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาทบทวนและเปรียบเทียบมาตรการอื่นๆ
แบบบูรณาการทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะดำเนิน การในลำดับต่อไป
|