การพัฒนาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ผลิตต้นแบบอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์ และรสชาติดั้งเดิมในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศได้
ซึ่งต้องมีรสชาติ ลักษณะปรากฏที่ถูกรสนิยมของชาวต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำผลิตภัณฑ์อาหารไทยจากงานวิจัย
ไปทดสอบการยอมรับ ให้รู้ถึงรสนิยมการบริโภคของผู้บริโภค ณ ประเทศนั้นๆ
เพื่อจะนำผลที่ได้มาถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร นำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป 6 ชนิด 7 ผลิตภัณฑ์ คือ แกงกะหรี่ไก่ หมูสะเต๊ะ-
น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ น้ำยำ น้ำพริกอ่อง ไส้อั่วและข้าวเหนียวดำเปียกเผือก
และทดสอบด้วยการชิมผลิตภัณฑ์อาหาร 4 ชนิดคือ คือ แกงกะหรี่ไก่ หมูสะเต๊ะ-
น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ น้ำพริกอ่อง และข้าวเหนียวดำเปียกเผือก โดยผู้บริโภคชาวต่างชาติ
2 ประเทศ 3 เมือง คือในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กรุงเบิร์น และเมืองซูริค
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แล้วให้ผู้ชิมตอบแบบสอบถาม ที่ประเมินความชอบการยอมรับตามเกณฑ์
ที่ตั้งไว้ 5 ระดับคือ ไม่ชอบมาก ไม่ชอบเล็กน้อย เฉยๆ ชอบเล็กน้อย
และชอบมาก ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ ปรากฏว่าผู้ชิมในเวียนนา ชอบ แกงกะหรี่ไก่
ข้าวเหนียวดำเปียกเผือก และน้ำพริกอ่อง คนชิมครึ่งหนึ่งไม่ค่อยชอบหมูสะเต๊ะ
โดยให้ความเห็นว่ามีรสหวานเกินไป ผู้ชิมในกรุงเบิร์น ชอบอาหารที่นำไปทดสอบทั้ง
3 ชนิดมาก โดยเรียงตามลำดับความชอบดังนี้ คือ แกงกะหรี่ไก่ น้ำพริกอ่องและข้าวเหนียวดำเปียกเผือก
ส่วนผู้ชิมในซูริค ชอบ หมูสะเต๊ะ แกงกะหรี่ไก่ และน้ำพริกอ่อง ผลจากการทดสอบ
ประมวลรสนิยมของผู้ชิม ในทั้ง 3 เมือง ได้ว่าผู้ชิมในกรุงเวียนนา ยอมรับกลิ่นเครื่องเทศในแกงกะหรี่ไก่และหมูสะเต๊ะ
ชอบอาหารคาวที่มีรสเค็มนำ หวานตามได้เล็กน้อย ส่วนใหญ่ไม่ชอบอาหารที่มีรสหวานนำ
ไม่คุ้นเคยกับอาหารที่มีรสเผ็ด ผู้ชิมในกรุงเบิร์น ชอบกลิ่นเครื่องเทศในแกงกะหรี่ไก่
สามารถรับประทานอาหารคาวที่มีรสหวานเล็กน้อยได้ ยอมรับรสเผ็ดได้มากกว่าชาวเวียนนา
ผู้ชิมในเมือง ซูริค ส่วนใหญ่ชอบอาหารที่มีกลิ่นเครื่องเทศแรงๆ ทานเผ็ดได้มากกว่าชาวเวียนนา
จำนวนคนที่ยอมรับอาหารที่มีรสหวานนำ มีมากกว่าในเวียนนา
กล่าวได้ว่า
อาหารท้องถิ่นไทยที่มีเอกลักษณ์ ได้แก่ น้ำพริกอ่อง ข้าวเหนียวดำเปียกเผือก
ก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติได้เช่นกัน โดยเฉพาะข้าวเหนียวดำ เป็นอาหารที่
ชาวต่างประเทศให้ความสนใจ เพราะมีคุณสมบัติเสริมสุขภาพ เนื้อสัมผัสเคี้ยวกรุบๆ
บางคนก็บอกว่าน่าจะนำไปรับประทานกับไอศครีม ส่วนน้ำพริกอ่อง บางคนระบุว่าคล้ายน้ำซอสราด
สปาเก็ตตี้ ชื่อว่า Bolognese ดังนั้นภาครัฐควรวางแผนส่งเสริม ให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทย
รู้จักและบริโภค อาหารไทยชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกๆปี ซึ่งจะส่งผลถึงการขยายตลาดอาหารไทยในต่างประเทศต่อไป
สนับสนุนทุนวิจัย โดย สํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ภาพผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของโครงการวิจัย
7 ชนิด
|