เทคโนโลยีการทำน้ำผลไม้เข้มข้นที่สามารถรักษากลิ่นรสของผลิตภัณฑ์ไม่ให้เปลี่ยนแปลงที่นิยมกัน
มักใช้ระบบเมมเบรนที่เรียกว่า Reverse osmosis และ Ultrafiltration
เป็นกระบวนการที่ใช้ความร้อนต่ำ/ ไม่ได้เพิ่มความร้อน ที่ชักนำให้ผลิตภัณฑ์เสียหายหรือเปลี่ยนสภาพ
แต่ใช้ความดันสูงเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการแยกน้ำออกจากผลิตภัณฑ์ได้ประมาณร้อยละ
50 ในขณะเดียว กัน สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้นปลอดเชื้อได้
โดยการผ่านในระบบเมมเบรนที่เรียกว่า Crossflow Microfiltration ซึ่งมีลักษณะของเมมเบรนที่มีขนาดรูสม่ำเสมอและขนาดรูเล็กพอที่จะกรองจุลินทรีย์ได้
จึงเรียกว่า Cold sterilization
การเลือกใช้ชนิดและขนาดของรูเมมเบรนขึ้นกับจุดประสงค์ในการแยกและชนิดของวัตถุดิบ
ส่วนประกอบและขนาดของสารที่เป็นองค์ประกอบด้วย เช่น น้ำหนักโมเลกุลของสารที่ต้องการแยก
เพื่อทำให้เลือกขนาดเมมเบรนที่เหมาะสมได้
Crossflow
membrane technology จึงมีการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
เช่น การทำน้ำผลไม้เข้มข้นชนิดใส การแยกส่วนไวน์ การสกัดรงควัตถุธรรมชาติและทำให้เข้มข้น
การเพิ่มความเข้มข้นของเซลล์ยีสต์ การทำโปรตีนเข้มข้น (เวย์โปรตีน)
จากน้ำทิ้งในกระบวนการทำเนยแข็ง เป็นต้น
การทำน้ำเชื่อมผลไม้
ใช้เนื้อผลไม้ตีป่น ผ่านการย่อยสลายด้วยเอนไซม์เพคติเนส ทำให้เนื้อผลไม้มีลักษณะเหลวและความหนืดลดลง
แล้วจึงผ่านเนื้อผลไม้เหลวเข้าสู่ระบบการกรองด้วยเมมเบรนชนิดไมโครฟิลเตรชัน
หรือ อุลตร้าฟิลเตรชัน ทำให้ได้น้ำผลไม้ใส แล้วทำให้เข้มข้นโดยการกำจัดน้ำออกไปด้วยระบบรีเวอส
ออสโมซีส โดยไม่มีการเปลี่ยนสถานะของของเหลว แต่อาศัยพลังงานเพียงเล็กน้อย
ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพดีกว่าทั้งสี และกลิ่นรสธรรมชาติ เมื่อเทียบกับการทำให้เข้มข้นโดยใช้ความร้อนระเหยน้ำภายใต้สภาวะสุญญากาศ
(vacuum evaporator)
น้ำเชื่อมผลไม้
ทำได้จากผลไม้ชนิดต่างๆ ชนิดเดียวหรือผลไม้ผสม ให้มีความหวานประมาณ
70๐บริกซ์ มีส่วนประกอบที่อุดมด้วยฟรุกโตส กลิ่นรสธรรมชาติของผลไม้
สีคล้ายน้ำผึ้ง สามารถใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลซูโครส เป็นที่นิยมใช้ในรูปของสารให้ความหวานธรรมชาติจากผลไม้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
เช่น ธัญพืช ขนมอบ ไอศครีมพรีเมียม และเครื่องดื่ม เป็นต้น
|