การวิจัยและพัฒนากรรมวิธีการผลิตและคุณค่าทางอาหารของน้ำชีวจิตสำเร็จรูป
Research and development on process and nutritive value of R.C. beverage

กุลวดี ตรองพาณิชย์ วินัศ ภูมินาถ ช่อลัดดา เที่ยงพุก สิริพร สธนเสาวภาคย์ และ งามจิตร โล่วิทูร
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


           ปัจจุบันประชากรโลกได้เผชิญหน้ากับโรคภัยต่าง ๆ อันเนื่องมาจากวิวัฒนาการทางด้านอาหารและการบริโภค ความเจริญทางด้านวัตถุได้นำเรื่องให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในด้านอาหารและค่านิยมในการบริโภคแบบประเทศที่เจริญแล้วในตะวันตกที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากสัตว์ เช่น เนย นมและไขมัน จนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย ทำให้ผู้บริโภคเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดอุดตัน ต่อเนื่องไปจนถึงโรคมะเร็ง จึงมีการหวนกลับมาใช้เมล็ดธัญชาติและพืชชนิดต่าง ๆ เป็นอาหารหลัก ในประเทศไทย น้ำชีวจิต หรือที่เรียกอีกอยางหนึ่งว่า น้ำอาร์ซี (R.C., Rejuvenating Concoction) เป็นเครื่องดื่มที่ผลิตจากการต้มเมล็ดธัญชาติ 9 ชนิด เข้าด้วยกัน ได้แก่ ข้าวโอ๊ต กล้อง ข้าวสาลีกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย ลูกบัว ข้าวฟ่าง ข้าวมันปูกล้อง ข้าวเจ้ากล้อง และข้าวเหนียวกล้อง มาต้มจนสุก แล้วรินแต่น้ำมาดื่ม กล่าวกันว่าน้ำชีวจิตมีทั้งกลูโคส และคุณค่าทางอาหารอื่นๆ เช่น วิตามินต่าง ๆ และแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ จึงช่วยรักษาอาการของโรคอ่อนเพลีย อันเกิดจากเซลล์ในร่างกายเสื่อมถอย (สถาบันวิจัยข้าว 2545) จากผลการวิจัยหลายแหล่งพบว่า ปริมาณการรับประทานใยอาหาร (dietary fiber) และสารอาหารอื่น ๆ มีความสัมพันธ์ผกผันกับความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ และโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม แต่อย่างไร ก็ตาม ผู้บริโภคที่ต้องการดื่มน้ำชีวจิต ยังต้องจัดเตรียมเองทุกวัน และมักมีปัญหาที่น้ำชีวจิตที่ทำเองนั้นเกิดบูดเสียเมื่อจะเก็บไว้บริโภคในเวลาต่อไป นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยธัญชาติต่าง ๆ ถึง 9 ชนิด ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน บางตำราที่ได้นำวัตถุดิบบรรจุซองวางขายในท้องตลาด ก็มีงาดำป่นและจมูกข้าวสาลีป่นเพิ่มขึ้นอีกด้วย ข้อดีของการป่น งาดำและจมูกข้าวสาลี คือทำให้วัตถุดิบสามารถกระจายตัวไปทั่วสารละลายในระหว่างการคนได้อย่างรวดเร็วกว่าไม่ป่น แต่ก็มีข้อเสีย คือทำให้อณูของไขมันแตกตัวและมีเนื้อที่ในการสัมผัสอากาศได้ดีขึ้น ทำให้มีปฏิกิริยาการเหม็นหืนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การป่นยังทำให้โอกาสในการปนเปื้อน
จุลินทรีย์ได้ง่ายเข้า โดยเฉพาะเมื่อไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์นั้น ๆ หลังการป่น

           ดังนั้น โครงการวิจัยและพัฒนากรรมวิธีการผลิตและคุณค่าทางอาหารของน้ำชีวจิตสำเร็จรูป โดยนางกุลวดี ตรองพาณิชย์ และคณะจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำชีวจิตสำเร็จรูปพร้อมดื่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค โดยศึกษากรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศเพื่อทดแทนวัตถุดิบที่ต้องมีการนำเข้า เช่น ข้าวสาลีกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น และศึกษาการยอมรับของผู้ชิมที่มีต่อผลิตภัณฑ์โดยเปรียบเทียบ กับสูตรที่มีการใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ พบว่า สามารถใช้ถั่วเหลืองทดแทนการใช้ข้าวสาลีกล้อง ข้าวบาร์เล่ย์กล้องและข้าวโอ๊ตได้ดีที่สุด โดยต้องปรับเปลี่ยนปริมาณของวัตถุดิบที่ใช้โดยมีปริมาณโปรตีน แคลเซี่ยม เหล็ก และ total antioxidants as gm E vitamin C มากกว่าสูตรเปรียบเทียบ (control) ในขณะที่มีปริมาณวิตามินเอ ไขมัน เถ้า และโซเดียม ใกล้เคียงกับสูตรเปรียบเทียบ น้ำชีวจิตที่ทดลองผลิตทุกสูตรรวมทั้งสูตร control ไม่มี cholesterol, glucose และ total sugars ในขณะที่มีวิตามิน B1 และ B2 น้อยกว่า 0.01 และ 0.005 mg/100 g ตามลำดับ การเติมงาดำป่นและการแช่ธัญชาติที่แข็งและสุกยากก่อนต้มจะช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารและ cloud stability ในผลิตภัณฑ์

           แต่อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการใช้งาดำป่นที่เหม็นหืน ซึ่งจะทำให้ total antioxidants ในผลิตภัณฑ์ลดลง ไม่ควรกรองน้ำชีวจิตหลังจากต้มเสร็จแล้ว เพราะจะทำให้คุณค่าทางอาหารต่าง ๆ เช่น ใยอาหาร โปรตีน ไขมัน โซเดียม และเหล็ก ลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ (p < 0.05) กระบวนการบรรจุกระป๋องและฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่ 110?C 15 นาที ไม่ทำให้คุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋องเปลี่ยนไปจากน้ำชีวจิตที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการบรรจุกระป๋องอย่างเป็นนัยสำคัญ (p<0.05) ยกเว้นในปริมาณของไขมันที่เพิ่มขึ้นและค่าความสว่าง (L*) ที่ลดลง จากการทดสอบความชอบและการยอมรับของผู้ชิมที่มีต่อผลิตภัณฑ์สูตรต่าง ๆ พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างสูตรอย่างเป็นนัยสำคัญ (p<0.05) ในความชอบในทุกคุณลักษณะและการยอมรับ
แต่อย่างไรก็ตามจากการวิจัย พบว่า ควรมีการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้จากการสกัดน้ำ ชีวจิตครั้งแรก โดยนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ข้าวต้มชีวจิตบรรจุกระป๋อง ซึ่งจากการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร พบว่ายังมีคุณค่าทางอาหารในผลิตภัณฑ์อีกมาก ซึ่งหากมีการวิจัยต่อไปถึงขั้นความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ก็จะเป็นการดีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำชีวจิต เพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ และลดปริมาณวัสดุที่ต้องทิ้ง