โครงการ เคยู-ไบโอดีเซล : น้ำมันไบโอดีเซลจากพืชพลังงาน

เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ และคณะ
ภาควิชาวิศกรรมเคมี คณะวิศกวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


            จากวิกฤตการณ์น้ำมันแพงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของพลังงานทดแทนในประเทศไทย โดยแหล่งพลังงานที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดในขณะนี้คือ น้ำมันไบโอดีเซลจากพืชพลังงาน ทั้งนี้เพราะในประเทศมีการบริโภคดีเซลถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากพืชพลังงานจึงถืเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย

            น้ำมันไบโอดีเซล หรือน้ำมันชีวภาพ คือน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล แต่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีองค์ประกอบทางน้ำมันสูงเช่น สบู่ดำ, ปาล์มน้ำมัน, ทานตะวัน เป็นต้น โดยสามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ โดยผ่านกระบวนการทรานเอสเทอร์ริฟิเคชั่น (วิธีการผลิตไบโอดีเซล) และเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซล

          มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านศาสตร์แห่งเกษตรกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำพืชพลังงานมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล จึงได้รวมกลุ่มของนักวิจัย เพื่อร่วมทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันไบโอดีเซลแบบบูรณาการจากพืชพลังงาน ภายใต้ชื่อโครงการ “เคยู-ไบโอดีเซล” โดยทำการศึกษาตั้งแต่เรื่องการปลูกพืชพลังงาน เทคนิคการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้จากการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โดยรายละเอียดของการบริหารงานภายในกลุ่มดังแสดงในภาพที่ 1

           โครงการ “เคยู-ไบโอดีเซล” ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 โดยเกิดจากความร่วมมือกันของคณาจารย์และนักวิจัยจากหลายหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันประกอบไปด้วย คณะเกษตร, คณะวนศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะสังคมศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์, คณะอุตสาหกรรมเกษตร, สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร, สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ, สถาบันวิจัยและพัฒนา แห่ง มก., และสถาบันKAPI โดยได้รับทุนจัดสรรจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ให้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

  1. โครงการรวบรวมพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำ
  2. โครงการเขตกรรมและผลของสภาวะแวดล้อมต่อการปลูกสบู่ดำ
  3. โครงการศึกษาด้านสรีรวิทยาสบู่ดำ เมล็ดพันธุ์ และการขยายพันธุ์สบู่ดำ
  4. โครงการเทคนิคการผลิตน้ำมันสบู่ดำและไบโอดีเซล เพื่อใช้ในเครื่องยนต์รอบต่ำและสูง และการทดสอบ
  5. โครงการศึกษาการจัดการโรคและแมลงศัตรูของสบู่ดำ การนำสบู่ดำไปกำจัดแมลง และผลของแมลงต่อการติดผล
  6. โครงการการสร้างเครื่องกะเทาะเมล็ด เครื่องหีบ เครื่องสกัด และเครื่องเก็บผลสบู่ดำ
  7. โครงการลดความหนืดน้ำมันสบู่ดำ เพื่อใช้กับเครื่องยนต์รอบต่ำ
  8. โครงการประเมินผลกระทบด้านสังคม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม

           มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้โครงการวิจัย “เคยู-ไบโอดีเซล” มีจุดมุ่งหมายในการเป็นผู้นำในการตอบปัญหาต่างๆ ให้แก่สังคมในเรื่องเกี่ยวกับการปลูกพืชพลังงานอันได้แก่สบู่ดำ และการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนองความต้องการด้านพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทย

รูปที่ 1 ผังการทำงานของเคยู-ไบโอดีเซล