ความต้องการที่จะเพิ่มผลผลิตสาหร่ายวุ้นให้พอเพียงต่อการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและเพื่อเป็นอาหารสัตว์น้ำ
ได้ทำให้นักวิจัยไทยจากหลายสถาบันพยายามศึกษาวิธีการเลี้ยงสาหร่ายในรูปแบบต่างๆ
ภายใต้ระบบปิดและระบบเปิดทั้งในบ่อซีเมนต์ และบ่อดิน โดยการเลี้ยงมีทั้งแบบ
monoculture และ polyculture ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตได้ในระดับหนึ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
และส่วนใหญ่เป็นเพียงระยะแรกที่เริ่มต้นนำสาหร่ายลงเลี้ยง แต่หลังจากนั้นผลผลิตก็จะลดลงและเสื่อมสลายในที่สุด
การเลี้ยงสาหร่ายวุ้นโดยอาศัยสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำทิ้งจากการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นักวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ
นำมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตสาหร่าย การเลี้ยงสาหร่ายวุ้นโดยวิธีดังกล่าวในระบบเปิด
สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่มักพบคือผลผลิตที่ได้มักแปรผันและไม่แน่นอน
การเลี้ยงสาหร่ายในสภาพบ่อธรรมชาติโดยใช้น้ำทิ้งจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ
ในบางครั้งสามารถเลี้ยงสาหร่ายได้โตเร็ว ขณะที่บางครั้งมีการเจริญเติบโตช้าและตายหมด
แม้ว่าจะเลี้ยงในสภาวะแวดล้อมเดียวกัน
เมื่อไม่นานมานี้
ในประเทศไทยการเลี้ยงสาหร่ายทะเลแบบผสมผสาน (integrated cultivation)
โดยเฉพาะในการเลี้ยงสาหร่ายสีแดงสกุล Gracilaria และสาหร่ายสีเขียวสกุล
Caulerpa ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สาหร่ายเป็นตัวกรองทางชีวภาพสำหรับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้ง
การเลี้ยงสาหร่ายแบบผสมผสานได้รับการยอมรับบนพื้นฐานของความต้องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(รูปที่ 1) โดยเฉพาะเพื่อการเพิ่มกำลังผลิตและการใช้น้ำหมุนเวียนในการผลิตสัตว์น้ำและสาหร่าย
อย่างมีประสิทธิภาพและน้ำที่ถูกปล่อยออกจากระบบเลี้ยงไม่ไปทำลายสภาวะแวดล้อมชายฝั่ง
ดังตัวอย่างระบบการเลี้ยงสาหร่ายแบบผสมผสานภายใต้ระบบเปิดในบ่อดิน
ในรูปที่ 2 และภายใต้ระบบกึ่งปิด ในรูปที่ 3
|
รูปที่
1 ตัวอย่างรูปแบบโครงสร้างระบบการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
3 องค์ประกอบคือ เทคโนโลยีการผลิต (production technology),
สังคมและเศรษฐกิจ (social and economic aspects) และสิ่งแวดล้อม
(environment aspects) |
เป็นที่ยอมรับกันว่าการเพิ่มผลผลิตสาหร่ายให้ได้มากๆจำเป็นต้องเลี้ยงสาหร่ายในบ่อดิน
การเลี้ยงสาหร่ายวุ้นในบ่อซีเมนต์มีข้อจำกัดในการเพิ่มผลผลิต แม้ว่าการจัดการและการควบคุมระบบเลี้ยงในบ่อซีเมนต์จะทำได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ การจัดการและการควบคุมระบบเลี้ยงให้สมดุลเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก
ปัจจัยสำคัญในการควบคุมและรักษาการเจริญของสาหร่ายวุ้น ที่เลี้ยงในสภาวะทั้งบ่อดินและบ่อซีเมนต์กลางแจ้งคือ
การจัดการระบบหมุนเวียนและถ่ายน้ำในระบบเลี้ยงสาหร่ายให้สม่ำเสมอ การให้อากาศในบ่อเลี้ยงเพื่อให้น้ำทะเลหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว
ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นให้สาหร่ายวุ้นมีการเจริญเติบโตดีขึ้น แต่การเปลี่ยนถ่ายน้ำทะเลใหม่ซึ่งมีสาร
อาหารที่จำเป็น ต่างๆเข้าสู่ระบบเลี้ยง จะช่วยกระตุ้นให้สาหร่ายวุ้นมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้นและมีทัลลัสที่แข็งแรงสมบูรณ์
|
รูปที่
2 ตัวอย่างผังการเลี้ยงสาหร่ายแบบผสมผสานในระบบเปิดในบ่อดิน |
|
รูปที่
3 ตัวอย่างผังแสดงระบบการเลี้ยงสาหร่ายแบบกึ่งปิดในบ่อดิน |
|